"จุฬา" ผนึก "แซส ซอฟท์แวร์" ชูความอัจฉริยะด้านบุคลากรและเทคโนโลยีริเริ่มโครงการ "ซียู โนเลดจ์ เซอร์วิส"

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday June 22, 2004 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
"จุฬา" ผนึก "แซส ซอฟท์แวร์" ชูความอัจฉริยะด้านบุคลากรและเทคโนโลยีริเริ่มโครงการ "ซียู โนเลดจ์ เซอร์วิส" ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะครบวงจรแห่งแรกของเมืองไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำตลาดด้านการให้บริการซอฟท์แวร์ธุรกิจอัจฉริยะ หรือ บีไอ (Business Intelligence) เปิดให้บริการครบวงจรด้านการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลธุรกิจอัจฉริยะแห่งแรกของเมืองไทย ภายใต้ชื่อโครงการ "ซียู โนเลดจ์ เซอร์วิส" (CU Knowledge Services Project) ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและองค์กรภาคธุรกิจในการขยายความรู้ธุรกิจอัจฉริยะสู่สังคมไทย
ศาสตราจารย์ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า "โครงการซียู โนเลดจ์ เซอร์วิส" เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรภาคธุรกิจในการนำเทคโนโลยีใหม่มารองรับและพัฒนาสังคม ดังนั้นจึงร่วมมือกับบริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) ในการจัดตั้งโครงการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลธุรกิจอัจฉริยะ และสร้างข้อมูลอัจฉริยะที่เป็นที่เป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนและการตัดสินใจสำหรับองค์กรธุรกิจและภาครัฐ ตลอดจนการเป็นศูนย์กลางข้อมูลเพื่อการวิจัยและการค้นคว้าของจุฬาฯ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้คณาจารย์และนิสิตได้รับประสบการณ์ในการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมและการแก้ปัญหาจริงทางธุรกิจ ซึ่งสาสารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ตลอดจนงานด้านการวิจัยต่างๆ ได้"
"สำหรับโครงการซียูโนเลดจ์ เซอร์วิสนี้ จะตั้งอยู่ที่สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรองอธิการบดี และ CIO ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมเลศน์ สันติเวชชกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการรูปแบบในการดำเนินการโครงการนี้จะดำเนินการภายใต้แนวคิด "Project-based" ซึ่งเป็นโมเดลในการดำเนินการที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานได้อย่างเต็มที่ และสามารถรองรับปริมาณงานได้อย่างไม่มีขีดจำกัดนอกจากนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีความพร้อมในเรื่องของบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญครอบคลุมสาขาวิชาทุกวิชา ซึ่งจะทำให้โครงการ "ซียู โนเลดจ์ เซอร์วิส" เป็นศูนย์กลางและแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาครัฐและภาคเอกชนในการบริหารจัดการข้อมูลขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากที่ได้เปิดตัวโครงการนี้อย่างเป็นทางการแล้ว ผลงานชิ้นแรกที่จะดำเนินการทันทีภายใต้การดำเนินงานของโครงการ คือ การบริหารจัดการข้อคลังข้อมูล (Data Warehouse) ของจุฬาฯทั้งหมด เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาที่มีข้อมูลในปริมาณมหาศาล และข้อมูลเหล่านั้นได้ถูกจำแนกอยู่แต่ละหน่วยงานย่อย
ซึ่งในจุฬาฯ มีหน่วยงานย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้การบูรณาการข้อมูลเหล่านั้นเป็นเอกภาพ ทางจุฬาฯ จึงจำเป็นต้องมีการจัดการข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดการข้อมูลของนิสิต คณาจารย์ และบุคคลภายนอก ส่วนอีกหนึ่งโครงการ คือ โครงการนำร่องบริหารจัดการคลังข้อมูล คณะพาณิชยศาสตร์และบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับองค์กรทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 02218-3422 หรือ http://www.it.chulaac.th หรือ cuks@chula.ac.th ศาสตร์ตราจารย์ คุณหญิงสุชาดา กล่าว
นางจงรักษ์ สกุลภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า "ในฐานะที่ แซส คือ ผู้นำตลาดธุรกิจอัจฉริยะ ตลอดระยะเวลากว่า 28 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแซสมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและให้ความรู้กับตลาดครอบคลุมทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งเราพบว่าองค์กรต่างๆ เหล่านี้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลและประโยชน์ของข้อมูลอัจฉริยะที่จะช่วยให้องค์กรได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างชาญฉลาด แต่ในขณะเดียวกันเราก็พบว่าองค์กรเหล่านี้ยังประสบอยู่กับข้อจำกัดในหลายประการจึงทำให้ไม่สามารถจัดการกับข้อมูลขององค์กรที่มีอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความพร้อมเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลที่องค์กรมีอยู่ให้เกิดเป็นข้อมูลอัจฉริยะ ซึ่งช่วยให้ผู้บริหารสามารถวางแผนได้อย่างมีทิศทาง ถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้อจำกัดในเรื่องของความรู้ความชำนาญของบุคลากรในแต่ละสาขาอาชีพก็นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาองค์กรอัจฉริยะให้สามารถแข่งขันและก้าวสู่ความเป็นผู้นำท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้นทุกขณะ"
"โครงการซียู โนเลดจ์ เซอร์วิส (CU Knowledge Service Project)จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ด้วยโครงการอบรม และบริการคำปรึกษาด้านเทคโนโลยี รวมถึงการเปิดให้บริการด้านการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะที่ครบวงจรแห่งแรกของเมืองไทยด้วยเทคโนโลยีของแซส แก่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่คณาจารย์ และนิสิต นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจโดยทั่วไปนับว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ให้องค์กรภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาที่จะร่วมมือกันในการยกระดับสังคมไทยสู่การเป็นสังคมความรู้อัจฉริยะ นอกจากนี้หัวใจสำคัญของโครงการ คือ ความร่วมมือกันอย่างลงตัวระว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันศึกษาที่มีศักยภาพและความพร้อมอันดับ 1 ของเมืองไทยด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งประกอบด้วย คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและทีมเจ้าหน้าที่ของโครงการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทุกสาขาอาชีพและ 'แซส' องค์กรภาคธุรกิจที่ความพร้อมและเชี่ยวชาญด้านซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence)ซึ่งได้รับการจัดอันดับจากสถาบันต่างๆ ทั่วโลกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟท์แวร์ธุรกิจอัจฉริยะอันดับ 1"
"สำหรับความร่วมมือของแซสในโครงการ ซียู โนเลดจ์ เซอร์วิส เซอร์วิส (CU Knowledge Service Project) นั้น แซสจะมีส่วนร่วมในฐานะของผู้สนับสนุนและลงทุนด้านเทคโนโลยีและซอฟท์แวร์ธุรกิจอัจฉริยะทั้งหมด ด้วยงบการลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ตั้งแต่ โซลูชั่นธุรกิจอัจฉริยะเวอร์ชั่นล่าสุดแบบวงจร การติดตั้งชุดซอฟท์แวร์ พร้อมผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีรวมถึงการฝึกอบรมการใช้งานเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานให้กับบุคลากรของโครงการเพื่อมุ่งให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจอัจฉริยะครบวงจรอย่างแท้จริง"
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
พัชราวดี สุทธิภูล
บริษัท เอพีพีอาร์ มีเดีย จำกัด
โทร 0-2655-6633--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ