ก.พลังงาน ย้ำมาตรการประหยัดพลังงานเข้าเป้า มั่นใจแก๊สโซฮอล์เป็นหัวหอกทดแทนการใช้น้ำมันแพง

ข่าวทั่วไป Tuesday June 22, 2004 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กระทรวงพลังงาน
ก.พลังงาน ย้ำมาตรการประหยัดพลังงานเข้าเป้า มั่นใจแก๊สโซฮอล์เป็นหัวหอกทดแทนการใช้น้ำมันแพง ชูนายกรัฐมนตรีสร้างความมั่นใจเติมแก๊สโซฮอล์ ให้ประชาชนชื่นใจ
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (22 มิ.ย.47) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะได้นำแก๊สโซฮอล์ มาเติมในรถยนต์ประจำตำแหน่งของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีแต่ละท่าน เช่น ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไป และเป็นการสร้างความมั่นใจในการใช้ก๊าซโซฮอล์ เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งรถยนต์ที่สามารถใช้ก๊าซโซฮอล์ได้นั้น
ขณะนี้ได้รับรายงานจากค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า ฮอนด้า ว่าสามารถเติมแก๊สโซฮอล์ได้ทันทีโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ สำหรับค่ายรถยนต์ยุโรปนั้นสามารถเติมได้เช่นกัน ซึ่งให้ความมั่นใจแก่ประชาชนได้ เพราะรถประจำตำแหน่งของตนซึ่งเป็นยี่ห้อเมอร์ซิเดส เบนซ์ ได้เติมแก๊สโซฮอล์ มาเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างไร รวมทั้งรถยนต์ของผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงพลังงาน
ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้สรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการประหยัดพลังงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม และ 8 มิถุนายน 2547 เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยการดำเนินการระหว่างวันที่ 9-18 มิถุนายน 2547 ได้มีความ ก้าวหน้าเป็นลำดับ และสามารถสรุปผลเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีได้ดังนี้
1. มาตรการปิดสถานีจำหน่ายน้ำมันหลังเวลา 24.00 น.
พบว่าสถานีจำหน่ายน้ำมันทั้งประเทศจำนวนทั้งสิ้น 7,034 แห่ง แบ่งเป็นในเขตกทม. 809 สถานี และต่างจังหวัด 6,225 สถานี ให้ความร่วมมือในการปิดบริการเป็นส่วนใหญ่ และอยู่ระหว่างการทยอยปิดสถานีบริการอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพลังงานได้มอบป้ายผ้าขอบคุณสถานีบริการที่ให้ความร่วมมือ โดยมีข้อความว่า “ปั๊มนี้ช่วยชาติ ปิดบริการ 24.00-05.00 น. 60 ล้านไทย ลดใช้พลังงาน” และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ยกย่องหน่วยงานภาครัฐเอกชนและบุคคลที่ให้ความร่วมมือในการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นการจูงใจให้มีผู้ร่วมมือกับรัฐเพิ่มขึ้น
2. มาตรการปิดไฟป้ายโฆษณาหลังเวลา 22.00
สมาคมผู้ผลิตป้ายโฆษณาได้มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน โดยระบุว่าได้แจ้งไปยังสมาชิกทุกรายเพื่อขอความร่วมมือในการปิดไฟส่องป้ายโฆษณาหลังเวลา 22.00 น. พบว่ามีสมาชิกให้ความร่วมมือปิดไฟส่องป้ายโฆษณาแล้วเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนตั้งเวลาเปิดปิดไฟส่องป้าย ตามเวลาใหม่
3. มาตรการปิดไฟถนน กรมทางหลวงได้แจ้งให้แขวงการทาง สำนักงานบำรุงทาง พิจารณาปิดไฟฟ้าแสงสว่าง ยกเว้นบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น ย่านชุมชน โรงงาน บริเวณมอเตอร์เวย์ บริเวณสะพานลอยคนเดินข้าม สะพานกลับรถต่างระดับ บริเวณทางแยกและทางโค้ง โดยดำเนินการปิดไฟฟ้าแสงสว่างในบริเวณทางตรง เปิดไฟเฉพาะบริเวณที่มีเสาไฟฟ้าชนิด กิ่งคู่ เสาสูง โดยดับดวงโคม 1 ดวงสลับต้นกัน กรณีกิ่งคู่ และลดจำนวนการเปิดดวงโคมลงจำนวน 2-3 ดวงโคม กรณีเสาสูงและลดการเปิดไฟฟ้าแสงสว่างให้น้อยลงโดยให้มีไฟฟ้าแสงสว่างข้างละ 3 ดวง บริเวณจุดกลับรถ
นอกจากนี้กรมทางหลวงมีโครงการนำร่อง เพื่อลดการใช้พลังงานบนถนนโดยจะติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดกำลังส่องสว่างในช่วงเวลาที่มีการจราจรน้อย จากไฟฟ้าแสงสว่างทั่วประเทศ 300,000 ดวง หากปิดทางตรงประมาณ 50,000 ดวง จะสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 17 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 130 ล้านบาท
4. มาตรการเพิ่มภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดใหญ่ กรมการขนส่งทางบกได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาพิกัดการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมปัจจุบันไว้แล้ว ซึ่งที่ปรึกษาจะส่งผลการศึกษาภายในเดือนมิถุนายนนี้ และหากผลการศึกษามีความเหมาะสมกับการนำไปใช้ กรมการขนส่ง ฯ จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อดำเนินการในขั้นนิติบัญญัติ ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 ปีจึงมีผลบังคับใช้
5. มาตรการให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นผู้นำในการประหยัดพลังงาน
กระทรวงพลังงานได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดต้องปฏิบัติให้เกิดผลลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้พลังงานอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่มิถุนายน 2547 โดยหลังจากหารือกับสำนักงบประมาณ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2547 แล้ว กระทรวงพลังงานจะจัดประชุมกับทุกกระทรวง เพื่อชี้แจงเรื่องวิธีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายด้านเชื้อเพลิง 10 % และเปิดโอกาสให้ทุกกระทรวงได้แลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติในการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้พลังงาน
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือแจ้งไปยังทุกหน่วยงาน ให้นำรถยนต์เติมน้ำมันเบนซินของส่วนราชการมาปรับเปลี่ยนใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมทั้งประสานกับกระทรวงมหาดไทยให้กำหนดบทบาทให้ผู้ว่า CEO เป็นแกนหลักในการจัดทำแผนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการประหยัดพลังงานในจังหวัด โดยนำร่องใน 12 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี สระบุรี ชลบุรี ราชบุรี บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำพูน สุราษฎร์ธานี และสงขลา--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ