ฟิทช์ เพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา และคงอันดับเครดิตของธนาคารทหารไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday June 23, 2004 09:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
ฟิทช์ บริษัทจัดอันดับเครดิตข้ามชาติประกาศเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign currency rating) ระยะยาวของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ("BAY") เป็น 'BB-' (BB ลบ) จากเดิม 'B+' และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นมีเสถียรภาพ จากเดิมที่เป็นบวก ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้ประกาศ อันดับเครดิตอื่นๆของ BAY ดังต่อไปนี้
- เปลี่ยนอันดับเครดิตสนับสนุนเป็น '3' จากเดิม '4'
- ให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศสำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ 'B+'
- ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National rating) ระยะยาวที่ 'BBB+(tha)'
- ให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F2(tha)'
- ให้อันดับเครดิตภายในประเทศสำหรับหนี้ด้อยสิทธิที่ 'BBB(tha)'
- คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ 'B'
- คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินไว้ที่ 'D/E'
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตสนับสนุน เป็นผลมาจากการที่ฟิทช์ได้ทำการทบทวนถึงสถานะของ BAY ในภาคธุรกิจธนาคารในระยะยาว รวมถึงเครือข่ายและความสำคัญของธนาคารซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดย BAY มีส่วนแบ่งทางการตลาดในการปล่อยสินเชื่อที่ 9% และส่วนแบ่งทางการตลาดในการรับเงินฝากที่ 8% เนื่องจาก BAY มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจธนาคารในประเทศจึงมีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่รัฐบาลจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่ BAY ถ้าจำเป็น ส่วนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวนั้นมีผลมาจากอันดับเครดิตสนับสนุนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวในระดับหนึ่งของรายได้และอัตรากำไร ถึงแม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารอาจจะยังคงถูกกระทบโดยการกันสำรองหนี้สูญ อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตสากลระยะยาวและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY ยังคงถูกจำกัด โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งระดับการกันสำรองหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับต่ำและความต้องการเงินทุนเพิ่มเติมของธนาคาร
ฟิทช์คาดว่า รายได้และอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยจะยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องใน ปี 2547 หลังจากที่มีการไถ่ถอนหุ้นบุริมสิทธิควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิในไตรมาสแรกของปี 2547 และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราการเติบโตของสินเชื่อ ถึงแม้ว่าแรงกดดันจากการแข่งขันและหนี้เสียที่ยังเหลืออยู่จะยังคงส่งผลกระทบต่อผลกำไร ระดับการกันสำรองหนี้สูญ ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2547 อยู่ที่ 23.8 พันล้านบาท หรือ 35.4 % ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ฟิทช์กล่าวว่า ระดับการกันสำรองหนี้สูญของ BAY อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าของธนาคารไทยอื่นๆอยู่มาก ซึ่งชี้ให้เห็นถึง ความเสี่ยงที่ทางธนาคารอาจจะต้องมีการกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติม
ถึงแม้ว่าอัตราหนี้เสียหลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของ BAY จะปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนนี้ยังคงอยู่ในระดับที่สูงถึง 145.1 % ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของฐานะทางการเงินของธนาคาร อย่างไรก็ตาม มูลค่าหลักประกันที่ปรับตัวดีขึ้น การฟื้นตัวของผลกำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า รวมถึง การใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของผู้ถือหุ้น น่าจะช่วยให้ฐานะทางการเงินของ BAY แข็งแกร่งขึ้นมาได้
ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศแก่หนี้ด้อยสิทธิของธนาคารทหารไทย ("TMB") ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางอีกแห่งของประเทศไทย ที่ระดับ 'B+' ฟิทช์ยังประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB ที่ 'BBB+(tha)' ระยะสั้นที่ 'F2(tha)'และอันดับเครดิตภายในประเทศสำหรับหนี้ด้อยสิทธิที่ 'BBB(tha)' ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและระยะสั้นของ TMB ที่ 'BB-'(BB ลบ) และ 'B' ตามลำดับ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'D/E' โดยแนวโน้มอันดับเครดิตระยะยาวเป็นบวก การประกาศคงอันดับเครดิตของ TMB เกิดขึ้นในขณะที่ทางธนาคารกำลังอยู่ในระหว่างการสรุปการควบรวมกิจการกับธนาคาร DBS ไทยทนุ ("DTDB") และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ("IFCT") ฟิทช์กล่าวว่า อันดับเครดิตเหล่านี้ สะท้อนถึง เงินกองทุน ระดับการกันสำรอง คุณภาพสินทรัพย์ ผลกำไร และแนวโน้มการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นของ TMB ถึงแม้ว่าปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมา ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างอ่อนแอ ฟิทช์กล่าวว่า คุณภาพสินทรัพย์ที่ยังไม่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะถ้าพิจารณาถึงการควบรวมเอาองค์กรที่อ่อนแอกว่าอย่าง IFCT เข้ามา จะยังคงก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ธนาคารอาจจะต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมในอนาคต
ความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB ได้ปรับตัวดีขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มทุน และการโอนหนี้เสียออกจากธนาคาร การเสนอซื้อหุ้นของ DTDB และ IFCT โดย TMB คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน และการควบรวมกิจการซึ่งรวมถึงการโอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของ DTDB และ IFCT มายัง TMB คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนกันยายน 2547 การควบรวมกิจการครั้งนี้จะก่อให้เกิดธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย โดยจะมีสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ประมาณ 679 พันล้านบาท ธนาคาร DBS จะให้การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ TMB ในหลายส่วนงานสำคัญ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB อาจจะถดถอยลงในช่วงแรกเนื่งอจาก IFCT ผลประกอบการที่ยังไม่แข็งแรง คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ และระดับการกันสำรองที่ต่ำของ IFCT ถึงแม้ว่าการควบรวมกิจการน่าจะเป็นประโยชน์ทางด้านโครงสร้างต้นทุน และทางด้านธุรกิจในระยะปานกลางโดยเฉพาะ ถ้าพิจารณาถึงการสนับสนุนจากผู้ร่วมทุนที่แข็งแกร่งอย่างธนาคาร DBS แห่งสิงค์โปร์
หมายเหตุ : อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนของฟิทช์
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของฟิทช์วิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารเมื่อไม่มีปัจจัยช่วยเหลือภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับเครดิตสนับสนุนวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการที่ทางธนาคารจะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หรือ จากรัฐบาลถ้าทางธนาคารประสบปัญหา อันดับเครดิตนี้ไม่ใช่อันดับเครดิตของหนี้ แต่เป็นอันดับความแข่งแกร่งของสถานะการเงินของธนาคาร และระดับการสนับสนุนจากภายนอกซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีให้ทางธนาคารก็ได้
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ