กระทรวงอุตสาหกรรมจัดงาน Bangkok Sugar Dinner ครั้งแรกในไทย ฉลองปีประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างยิ่งใหญ่

ข่าวทั่วไป Thursday June 14, 2012 10:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ซิลเลเบิล กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสามสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สถาบันชาวไร่อ้อยและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดงานยิ่งใหญ่ฉลองปีประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ที่สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 10 ล้านตัน เพียงพอสำหรับการส่งออกถึงกว่า7 ล้านตัน พร้อมกับการฉลอง 70 ปีแห่งการสถาปนากระทรวงอุตสาหกรรม สร้างความประทับใจแก่นักธุรกิจและ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายชาวไทยและต่างประเทศที่เข้าร่วมงาน โดยงาน Bangkok Sugar Dinner ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “An Evening of Sweet Success” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เป็นประธาน พร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Thai Sugar Economy: Key Drivers, Development and Policy” โดยมีดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการจัดงาน และดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายร่วมให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ตลอดจนบุคคลสำคัญด้านการค้าน้ำตาลจากองค์กรภาครัฐและเอกชนจากทั่วโลก และสื่อมวลชนที่เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างแสดงปาฐกถาพิเศษว่า “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สามารถสร้างงานสร้างรายได้แก่เกษตรกรนับแสนครัวเรือน รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่หล่อเลี้ยงประชากรของโลกมายาวนานกว่า 7 ทศวรรษ ความสำเร็จในครั้งนี้จึงเป็นพลังขับเคลื่อนและแรงบันดาลใจอันดียิ่งให้แก่ผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้เท่าทันกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของตลาดโลก” ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล โดยสามารถผลิตน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออก สร้างรายได้รวม 180,000-200,000 ล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันนโยบาย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาคุณภาพการควบคุมมาตรฐานการผลิต การขนส่งและการส่งออก ตลอดจนการกำกับดูแลทั้งในด้านราคาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และผู้บริโภค และการควบคุมปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อรักษาสถานภาพผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมการสร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น การนำไปใช้ในระบบผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วมการผลิตพลังงานชีวภาพ และอุตสาหกรรมเคมี ฯลฯ งานซึ่งจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพและความสำเร็จของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศนี้ ยังสร้างประทับใจให้กับผู้ร่วมงานด้วยการแสดงซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวเส้นทางแห่งความสำเร็จ ผ่านศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ในชุด “The Sugar Way” สร้างสรรค์โดยศิลปินศิลปาธร อาจารย์มานพ มีจำรัส และการแสดงศิลปะวาดน้ำตาลทราย ในชุด “The Sugar Art” โดยอาจารย์ก้องเกียรติ กองจันดี จากรายการ Thailand’s Got Talent รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ให้ความมั่นใจแก่พันธมิตรคู่ค้าจากทั่วโลก ถึงศักยภาพในเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและการเตรียมขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้าเต็มรูปแบบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 เนื่องจากตลาดอาเซียนที่มีประชากรถึง 600 ล้านคน คือผู้บริโภคกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณน้ำตาลทรายของไทยที่ส่งออกไปยังตลาดโลก ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการจัดงาน เสริมว่า “อีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย นอกเหนือจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นคือการพัฒนาคุณภาพซึ่งเกิดจากความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมของชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย จนทำให้คุณภาพผลผลิตน้ำตาลปีนี้เพิ่มสูงสุดทั้งปริมาณผลผลิตต่อตันอ้อยและค่า ความหวานโดยเฉลี่ยของผลผลิตอ้อย” นอกจากจะเป็นการฉลองความสำเร็จดังกล่าวแล้ว งานเลี้ยงที่จัดขึ้นครั้งนี้ยังเป็นการขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย รวมทั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เข้าร่วมประชุม Asia Pacific Sugar Conference ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการค้าและพันธมิตรที่ร่วมกันส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลก เผยแพร่ในนาม “กระทรวงอุตสาหกรรม” โดยบริษัท ซิลเลเบิล จำกัด ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรุณาติดต่อ คุณสมคิด เจริญศักดิ์ โทร. 0 2254 6895-7 / 08 4147 7575 โทรสาร 0 2255 4468

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ