กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ตะลึง! ผึ้งหลวงลดจำนวนเกือบครึ่งทุกๆ ปี ที่สวนผึ้ง นักวิจัยมจธ.ร่วมมือชาวบ้านเร่งอนุรักษ์ “ต้นผึ้ง” พญาไม้ที่หลงเหลืออยู่นอกเขตป่าเพียง 27 ต้น พบปัจจัยคุกคามเพียบ ระบุหากเพิ่มประชากรผึ้งไม่ได้ ระยะยาวไทยสูญเสียระบบนิเวศป่าแน่นอน
“สวนผึ้ง” แหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในขณะนี้ ด้วยความสวยงามของพื้นที่ ประกอบกับการพัฒนาที่สามารถสร้างความเป็นเอกลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับการท่องเที่ยว ที่นี่จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ ได้ไม่ยาก แต่เมื่อถามถึงอัตลักษณ์เชิงคุณค่าของพื้นที่สวนผึ้งแล้ว น้อยคนนักที่จะรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าที่จริงแล้ว “สวนผึ้งเคยมีความโดดเด่นในเรื่องใด?”
ในอดีตสวนผึ้งคือแหล่งที่มีผึ้งอาศัยอยู่จำนวนมาก กระทั่งสามารถส่งน้ำผึ้งเป็นเครื่องบรรณาการเข้าไปในเมืองหลวงจนได้ชื่อว่าเป็นสวนผึ้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะสวนผึ้งมีปัจจัยเอื้อที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและทำรังของผึ้งโดยเฉพาะ “ผึ้งหลวง” ผึ้งขนาดใหญ่มีพฤติกรรมการทำรังเป็นกลุ่มใหญ่หลายๆ รังบนต้นไม้ที่มีลักษณะสูงใหญ่ตั้งแต่ 15-50 รัง บางต้นนับได้กว่า 100 รัง จนชาวบ้านเรียกต้นไม้ชนิดนั้นว่า “ต้นผึ้งหรือยวนผึ้ง” แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ทั้งต้นผึ้งและผึ้งหลวงถูกคุกคามอย่างหนักจากความเจริญ จนแทบจะไม่มีผึ้งและต้นผึ้งให้เห็น
จากการศึกษาของ ดร.อรวรรณ ดวงภักดี อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ศึกษาเรื่องผึ้งในประเทศไทยมานานกว่า 13 ปี เปิดเผยว่า หลังจากเข้าไปสำรวจพื้นที่สวนผึ้งเพื่อดำเนินโครงการอนุรักษ์ต้นผึ้งและผึ้งหลวง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ปัจจุบันในเขตรอบนอกป่าอนุรักษ์พบต้นผึ้งเหลืออยู่เพียง 27 ต้นเท่านั้น ในขณะที่จำนวนผึ้งหลวงที่เข้ามาทำรังในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนลดลงปีละ 35-40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งผึ้งและต้นผึ้งยังมีแนวโน้มลดลงทุกๆ ปี ที่เป็นเช่นนี้ด้วยหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นไฟป่า การขยายตัวของสิ่งปลูกสร้าง การทำไร่เลื่อนลอย และการตีผึ้งผิดวิธี ฯลฯ
“เราสนใจเรื่องผึ้งอยู่แล้ว เรามีงานวิจัยด้านพฤติกรรมการปรับตัวของผึ้ง การอพยพย้ายรัง การเข้าออกและปัจจัยคุกคามทั้งของผึ้งหลวงและต้นผึ้ง และยิ่ง มจธ.มาเปิดศูนย์ที่ราชบุรี ก็ยิ่งมีความสนใจและสังเกตว่าผึ้งที่นี่ไม่ค่อยมี จึงรู้สึกกังวลเพราะความสำคัญของผึ้งและต้นผึ้งไม่ใช่แค่น้ำหวานและทรัพยากรป่าไม้เท่านั้น แต่หมายความรวมถึงระบบนิเวศที่ค่อยๆ สูญเสียความสมดุลไปหลังจากที่จำนวนประชากรผึ้งลดลง ยิ่งคนไทยชอบมีพฤติกรรมตัดไม้ทำลายป่าเป็นหย่อมๆ มีการสร้างบ้านเรือนรีสอร์ท รุกล้ำพื้นที่ป่าเข้าไป ลักษณะเช่นนี้เองทำให้ป่าถูกแบ่งออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย ถ่ายทอดพันธุ์กันเองในพื้นที่เล็กๆ เกิดการผสมเลือดชิดซึ่งตามมาด้วยการอ่อนแอของพืช และตายลงไปในที่สุด”
ดร.อรวรรณ ขยายความว่า พืชทุกชนิดทั้งพืชสวนและพืชไร่ต่างต้องการการช่วยผสมเกสรโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะการปลูกเป็นหย่อมๆ ด้วยแล้ว จะเป็นข้อจำกัดของแมลงชนิดอื่นๆ ในการข้ามเขตแดนพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง แต่ผึ้งมีพฤติกรรมการหากินที่สามารถบินได้ไกลกว่า 10 กิโลเมตร จึงสามารถช่วยผสมเกสรพืชข้ามต้นพ่อแม่ที่อยู่ต่างบริเวณกันได้ดี ลดภาวะความอ่อนแอของพันธุกรรมพืชลงได้ ดังนั้นผึ้งจึงช่วยให้สภาพความเป็นป่าฟื้นคืนชีพได้เร็วขึ้น ช่วยให้เกิดพืชสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่พัฒนาปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้เสมอ
ทั้งนี้โครงการอนุรักษ์ต้นผึ้งและผึ้งหลวงเริ่มจากการสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งผึ้งและต้นผึ้ง จนทราบว่าในพื้นที่สวนผึ้งเองก็มีกลุ่มชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่พยายามจะอนุรักษ์ต้นผึ้งนี้ไว้เช่นกัน จากนั้นจึงเข้าไปร่วมและสนับสนุนในเรื่องความรู้ทางวิชาการ เช่น ชีววิทยาของต้นผึ้งและผึ้งท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในการเก็บน้ำผึ้งอย่างถูกวิธี เนื่องจากที่ผ่านมากระทั่งปัจจุบันพบว่าคนตีผึ้งจะตีผึ้งเสียหายทั้งรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีผึ้งในช่วงที่ผึ้งกำลังสร้างตัวอ่อนก่อนที่จะแยกขยายรัง “วิธีการขยายรังของผึ้งคือผึ้งเค้าเก็บอาหารมาเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร จากนั้นจึงแยกรังจากหนึ่งรังเป็นสองรัง แต่หากรังผึ้งและตัวอ่อนถูกทำลายเสียหายหมดทั้งรัง โอกาสในการเติบโตของผึ้งตัวอ่อนก็จะถูกทำลายลงตามไปด้วย และเมื่อไม่สามารถสร้างประชากรผึ้งขึ้นมาทดแทนผึ้งงานที่จะหมดอายุขัยลงไปทุกๆ 3 เดือนได้ ก็จะส่งผลโดยตรงทำให้ผึ้งทั้งรังอ่อนแอและตายไปในที่สุด จำนวนผึ้งหลวงจึงลดลงอย่างน่าใจหายทุกๆ ปี”
“การอนุรักษ์ต้นผึ้งไม่ใช่เพียงการปลูกต้นผึ้งขึ้นมาทดแทนเท่านั้น เพราะหากมีต้นผึ้งแต่ไม่มีผึ้งก็ไม่มีประโยชน์เพราะยังไม่สามารถตัดวงจรของปัจจัยคุกคามได้ทั้งหมด ดังนั้น “ความรู้” จึงเป็นเรื่องสำคัญในการอนุรักษ์ ชาวบ้านต้องรู้ถึงความสำคัญของผึ้งว่าเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและห่วงโซ่อาหารอย่างไร เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผึ้ง รวมถึงการเก็บน้ำผึ้งจะต้องมีความรู้ไม่ตัดวงจรการเติบโตของผึ้ง ต้องเปิดโอกาสให้ผึ้งได้ขยายรังก่อนเก็บหรือทำลายรัง”
ดร.อรวรรณ กล่าวถึงการเก็บน้ำผึ้งที่ถูกวิธีว่าจะต้องเก็บเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำผึ้ง โดยนำไปใช้ประโยชน์เพียง 70 เปอร์เซ็นต์ และต้องเหลือไว้ให้ตัวอ่อนในรังได้ใช้เป็นอาหาร 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้เก็บต้องสังเกตส่วนที่นูนๆ ของรังจะเป็นส่วนที่มีน้ำผึ้งมากหากตัดเฉพาะส่วนนั้นไป ผู้เก็บยังสามารถกลับมาเก็บน้ำหวานจากรังได้ทุกๆ เดือนๆ ละ 1 ครั้งแต่ในทางตรงข้ามหากตัดทำลายทั้งรังจะทำให้ผึ้งลดปริมาณลงเกือบครึ่งของพื้นที่
“จากการสำรวจล่าสุด ต้นผึ้งที่เคยมีรังผึ้ง 45 รัง ปีถัดมานี้เหลือเพียง 15 รัง และโอกาสที่เขาจะกลับมาอีกน้อยมาก นี่คือสิ่งที่เราในฐานะนักวิจัยและชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนรู้สึกกังวล สิ่งที่เราร่วมกับชาวบ้านทำในตอนนี้คือการนำต้นผึ้งที่ชาวบ้านเขาเพาะได้เองนั้นนำกลับมาปลูกอนุรักษ์ ในพื้นที่ มจธ. ราชบุรีเองตอนนี้ก็มีเกือบร้อยต้น เพื่อมาต่อยอดงานวิจัยดูอัตราการเจริญเติบโตและปัจจัยอยู่รอดอื่นๆ จากนั้นจะนำความรู้นี้ไปช่วยให้ชาวบ้านอนุรักษ์ต้นผึ้งได้มีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้เรายังร่วมกับ ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มรักษ์เขากระโจม กองกำลังทหารหน่วยฉก.ทัพพระยาเสือ กองกำลังสุรสีห์ และโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย”
ปัจจุบันโครงการนี้ยังต้องดำเนินการไป เพื่อให้ความรู้ควบคู่ไปกับการสร้างกระแสการอนุรักษ์รวมถึงงานสำรวจที่ต้องเดินหน้าต่อเข้าไปยังเขตป่าลึกบริเวณชายแดนไทยพม่า เพื่อการค้นหาต้นผึ้งอีกหนึ่งชนิด ที่ชาวบ้านยังไม่สามารถเพาะต้นกล้าได้สำเร็จ ทั้งนี้การต่อลมหายใจของผึ้งหลวง บนต้นผึ้งจะสำเร็จหรือไม่ยังคงต้องติดตามเอาใจช่วยทีมวิจัยและชาวบ้านต่อไป