ไถระเบิดดินดานแปลงมันสำปะหลังนำร่อง

ข่าวทั่วไป Thursday June 14, 2012 11:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม จัดโครงการนำร่องการจัดการลดดินดาน เพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่ม เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกร สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามจัดทำโครงการส่งเสริมเพิ่มคุณภาพการผลิตมันสำปะหลัง ภายใต้โครงการ/งบประมาณพัฒนากลุ่มจังหวัด เพื่อเป็นแปลงต้นแบบในการเพิ่มคุณภาพการผลิตมันสำปะหลัง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรที่สนใจ หนึ่งในกิจกรรมการดำเนินงานคือการไถระเบิดดินดาน ซึ่งเป็นการจัดการดินดานโดยเครื่องจักรกลในแปลงมันสำปะหลังให้มีความเหมาะสมต่อการปลูกมันสำปะหลัง การเกิดดินดานมีสาเหตุจากการปลูกพืชที่ต่อเนื่องไม่มีการพักดิน โครงสร้างดินจึงเสียไป เมื่อดินแห้งดินจะทึบและแข็ง เมื่อฝนตกน้ำจะขังและระบายได้ช้า ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังได้ไม่เต็มที่ สำหรับเกษตรกรตรวจสอบดินดานสามารถสังเกตโดยวิธีง่ายๆ เช่น เวลาฝนตกลงมาพื้นที่ราบน้ำจะแช่ท่วมขังอยู่นาน เนื่องจากไม่สามารถซึมลงไปเก็บกักในดินชั้นล่าง แต่จะไหลบ่าไปบนผิวดินทำให้เกิดการชะล้างพังทลายบนผิวดิน ขณะเดียวกันในหน้าแล้งดินดานจะกั้นมิให้ความชื้นที่อยู่ข้างล่างขึ้นมาถึงรากพืช ทำให้พืชขาดน้ำและตายได้ เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่าการไถเบิกดินดาน ทำได้โดยการไถ 2 แนว ตัดกันเป็นตารางหมากรุก จากนั้นไถด้วยผาล 3 เพื่อพลิกดินให้กลบวัชพืช ทิ้งไว้ 5-7 วัน ก่อนจะไถพรวนด้วยผาล 7 หรือผาลพวง เพื่อย่อยดินและกลบรอยเบิกดินดาน ป้องกันการสูญเสียความชื้นจากใต้ดิน หากปลูกยกร่องก็ให้ยกร่องหลังจากพรวนดิน ข้อควรระวังในการไถเบิกดินดาน จะต้องเป็นพื้นที่ที่สำรวจแล้วว่าเป็นดินดานที่แท้จริง เพราะถ้าพื้นที่ที่ไถเบิกไม่เป็นดินดาน จะทำให้น้ำซึมลงใต้ดินเร็วกว่าปกติ ดินชั้นบนจะแห้งเร็ว พืชจะขาดน้ำเร็วขึ้น ในดินที่มีชั้นเกลือใต้ดิน ไม่ควรไถเบิกดินดาน เพราะจะทำให้เกลือขึ้นมาพร้อมกับน้ำใต้ดิน จะเป็นปัญหากับพืชได้จากการทดลองไถเบิกดินดานในไร่ของเกษตรกรโดยกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่าให้ผลผลิตมันสำปะหลังสูงขึ้น 30-50% และจากการทดลองของกรมวิชาการเกษตร พบว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพสูงขึ้น คือ มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง 1-2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตมันสูง ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือนขึ้นไปและต้นพันธุ์ก็ยังนำไปใช้ได้อีก การเก็บเกี่ยวมันที่อายุน้อย นอกจากจะได้ผลผลิตต่ำแล้ว ยังต้องลงทุนซื้อท่อนพันธุ์ปลูกในฤดูต่อไปอีกด้วย เกษตรกรที่มีปัญหาติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตร โดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ