กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและป่าไหลหลากในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช สุโขทัย พิษณุโลก ปราจีนบุรี และชัยนาท
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึง สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ประสบภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ดังนี้
ระนอง เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ 14 ตำบล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,521 ครัวเรือน 24,737 คน ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 อำเภอ คงเหลือสถานการณ์ในอำเภอกระบุรี
ชุมพร เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 7 อำเภอ 48 ตำบล 296 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน11,107 ครัวเรือน 26,017 คน ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้วและอยู่ระหว่างการฟื้นฟู
สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 13 อำเภอ 69 ตำบล 403 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 17,504 ครัวเรือน 62,327 คน ปัจจุบันยังคงน้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำตาปี 5 อำเภอ ได้แก่ พุนพิน เวียงสระ พระแสง เคียนชา และบ้านนาสาร
กระบี่ น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 8 อำเภอ 38 ตำบล 153 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,345 ครัวเรือน 5,881 คน บ้านเรือนเสียหาย 248 หลัง ถนน 68 สาย สะพาน 3 แห่ง ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ เทศบาลเมืองกระบี่ เกาะลันตา เขาพนม ปลายพระยา อ่าวลึก เหนือคลอง ลำทับ และคลองท่อม
พังงา น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ 22 ตำบล 114 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3,357 ครัวเรือน 15,795 คน ขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์ที่อำเภอตะกั่วป่า ส่วนพื้นที่อื่นๆ สถานการณ์คลี่คลายแล้วและอยู่ระหว่างการฟื้นฟู
นครศรีธรรมราช น้ำในลำคลองสินปุน และแม่น้ำตาปีเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอทุ่งใหญ่ 4 ตำบล ราษฎรเดือดร้อน 134 ครัวเรือน พืชสวน 1,500 ไร่ ถนน 22 สาย
สุโขทัย น้ำในแม่น้ำยมที่ไหลมาจากจังหวัดแพร่ เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วม 3 อำเภอ 12 ตำบล 61 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนเดือดร้อน 2,360 ครัวเรือน 5,713 คน ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย กงไกรลาศ และศรีสัชนาลัย
พิษณุโลก ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมขังและล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอบางระกำ ตำบลชุมแสงสงคราม
ปราจีนบุรี เกิดน้ำป่าไหลหลากกัดเซาะคอสะพาน ในพื้นที่อำเภอประจันตคาม ตำบลโพธิ์งาม ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
ชัยนาท เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอหันคา 2 ตำบล ราษฎรเดือดร้อน 159 ครัวเรือน 617 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 9,100 ไร่
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย จัดส่งเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เรือยาง รถบรรทุก รถเครนเครื่องอุปโภคบริโภค ถุงยังชีพ และเจ้าหน้าที่ชุด ERT สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน พร้อมแจ้งประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ราบต่ำริมทางน้ำไหลผ่าน ที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด ระมัดระวังอันตรายในระยะ 5- 6 วันนี้ ตลอดจนจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป