กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--
นักบำบัด แนะแนวทาง “มนุษยปรัชญา” แก้ปัญหา “เด็กอาชีวะ” ตีกัน ดึงศิลปะกลับมา ให้เด็กเรียนรู้จิตใจตนเอง อย่าเน้นทักษะวิชาการมากเกินไป ชี้หลักสูตรปัจจุบันสอนศิลปะแบบแยกส่วนเพื่อใช้ในการวัดผล แต่ละเลยกระบวนการเรียนรู้จากภายใน
14 มิ.ย. ณ เรือนพฤกษา บูติก รีสอร์ท อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ผู้ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาต้นแบบสุนทรียภาพแห่งการพัฒนาภายในสาหรับผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในทุกมิติ ได้จัดกิจกรรมค่ายสุนทรียภาพเพื่อรู้เท่าทันใจกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านเก็ดตระการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพด้านศิลปะและสร้างคุณค่าในตนเองตามแนวทางมนุษยปรัชญา ให้กับกลุ่มผู้ทำงานด้านเด็ก ครู เจ้าหน้าที่ และกลุ่มบุคลากรที่มีโอกาสทำงานด้านเด็ก
นายอนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี ผู้จัดการโครงการฯ และในฐานะจิตกรและนักศิลปะบำบัด กล่าวถึงกรณีเหตุเด็กช่างกลไล่ยิงอริต่างสถาบันบนรถเมล์ ว่า ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาในสถานศึกษาทุกระดับและสาขาลดจำนวนชั่วโมงการเรียนวิชาที่เกี่ยวกับศิลปะลง อีกทั้งการเรียนการสอนวิชาศิลปะในโรงเรียนยังถูกแยกให้เป็นวิชาที่เป็นทักษะ และเน้นเป้าหมายไปที่การวัดผลของการเรียนการสอน แต่ละเลยกระบวนการของการเรียนรู้ภายในจิตใจ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอาชีวศึกษาที่มักก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันนั้น วิชาที่เด็กเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องเครื่องมือทางช่างหรืออยู่กับเครื่องยนต์กลไกยิ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ขาดการพัฒนาด้านจิตใจ ซึ่งหากกระทรวงศึกษาธิการหรือภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเด็กอาชีวะจะเพิ่มเติมแนวคิดเรื่องมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) ที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่เคยถูกแยกออกจากศิลปะ โดยให้เด็กกลุ่มนี้ได้ทำกิจกรรมด้านศิลปะ อาทิ การวาดเส้น การร้องเพลง การปั้นดิน การจัดดอกไม้ ฯ ซึ่งมีกระบวนการให้เด็กได้เรียนรู้ภายในใจตนเอง และใช้พลังของศิลปะในการโอบอุ้มให้กลุ่มเพื่อนสามารถเรียนรู้เรื่องต่างๆ ร่วมกันและยึดมั่นอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องได้
“เด็กอาชีวะมีค่านิยมที่ถูกปลูกฝังมาจากรุ่นพี่ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าการปลูกฝังดังกล่าวไม่ได้ถูกปลูกฝังเพียงการพูดครั้งเดียว แต่คงมีการพูดย้ำๆ ซ้ำๆ หลายครั้ง รวมถึงการทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้น การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กอาชีวศึกษา ก็ควรมีกิจกรรมด้านศิลปะหรือการพัฒนาด้านจิตใจเข้าไปถึงพวกเขาบ่อยๆ ซ้ำๆ ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันการศึกษากลับแยกส่วนศิลปะออกจากตัวตนของเด็กทำให้เกิดปัญหาขึ้น เราบอกว่าการศึกษาคือการพัฒนาคน แต่วิชาความรู้ที่จัดการเรียนการสอนให้กับเด็กไปอยู่ที่บนหัวหมด เราจึงควรมีวิชาที่อยู่ข้างในใจด้วย ศิลปะ ดนตรี กลายเป็นฟิสิกข์ ซึ่งไม่ได้ดื่มด่ำ สัมผัสกับตนเอง เป็นเพียงศิลปะในด้านเดียว” นายอนุพันธุ์ กล่าว
ด้านนางณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก นักดนตรีบำบัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้นำดนตรีบำบัดไปใช้กับเยาวชนที่ติดสารเสพติด พบว่า เด็กไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาจากภายในตนเองได้ชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่า เด็กไม่สามารถยืนหยัดในความเป็นตัวตนของตนเองได้ ซึ่งสาเหตุการติดสารเสพติดของเด็กกลุ่มนี้เกิดจากการถูกเพื่อนชักจูง ดังนั้น การที่ใช้ดนตรีบำบัดจึงเป็นการฝึกให้เขาได้อยู่กับตนเอง แสดงพลังของตนเองออกมา เมื่อเขาทำได้ก็จะทำให้จิตใจเกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น และสามารถที่จะฟังเสียงเพื่อนที่อยู่รอบข้าง และร่วมเปล่งเสียงออกมาในทำนองเดียวกันได้