กระทรวงพลังงาน เผย มูลนิธิพลังงานผลักดันให้รัฐส่งเสริมพลังงานทดแทนจริงจัง

ข่าวทั่วไป Wednesday June 23, 2004 15:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กระทรวงพลังงาน
พลังงานหมุนเวียน พลังงานยั่งยืน พลังพัฒนาประเทศ
มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมผลักดันนโยบายรัฐบาลนำพลังงานเกษตรพืชผลต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งผลิตเอทานอล และการผลิตไฟฟ้า ชี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องส่งเสริมอย่างจริงจังนายสุรเชษฐ ธำรงลักษณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล มูลนิธิ พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า
ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนทั้งชีวมวล ลม แสงอาทิตย์ ตลอดจนมีการพัฒนามาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล ที่กำลังผลักดันนำพลังงานทดแทนมาใช้อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะเป็นโอกาสเหมาะที่จะพัฒนาและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ภายใต้สถานการณ์ด้านพลังงานขณะนี้
ทั้งนี้ ผลผลิตการเกษตรในประเทศ สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงทั้งเพื่อใช้เป็นพลังงานสำหรับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ผลิตไฟฟ้า รวมถึงน้ำมันทดแทน เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล เป็นต้น โดยทุกส่วนของผลิตผลทางการเกษตรหลักสามารถใช้ประโยชน์เป็นพลังงานได้เกือบทั้งหมด
ซึ่งในอดีตหรือปัจจุบันเป็นเพียงเศษพืชที่ต้องกำจัดหรือเผาทิ้ง เช่น ข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว รำข้าวใช้ทำน้ำมันรำซึ่งอาจนำมาผลิตไบโอดีเซลได้ เหลือแกลบและฟางข้าวใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า สำหรับอ้อย กากอ้อยจากการผลิตรวมถึงใบอ้อยและยอดอ้อยใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ และกากน้ำตาลยังนำไปผลิตเป็นเอทานอลได้อีก ขณะที่มันสำปะหลังสามารถนำหัวมันไปสกัดเป็นเอทานอล และเหง้ามันที่เหลือทิ้งอยู่จำนวนมากสามารถพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ ส่วนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเราสามารถผลิตไบโอดีเซลได้จากน้ำมันปาล์มดิบ ยังมีกาก กะลา ทะลายปาล์มเปล่า และใบปาล์มที่ใช้ผลิตพลังงานและไฟฟ้า หรือต้นยางพาราก็มีเศษไม้ รากไม้ กิ่งไม้ ใช้ในการผลิตพลังงานและไฟฟ้าได้ทั้งหมด
นายสุรเชษฐ กล่าวต่อว่า “เชื้อเพลิงที่ได้จากพืชผลทางการเกษตร ถ้ามีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ใบและยอดอ้อย ฟางข้าว ปาล์ม รากและกิ่งไม้ต่างๆ รวมถึงเหง้ามัน ในปีหนึ่งๆ มีปริมาณประมาณ 36.4 ล้านตัน หรือคิดเป็นค่าความร้อน 329 ล้านกิกะจูล ซึ่งเทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับมีถ่านหินประมาณ 16 ล้านตัน หรือเทียบเท่าน้ำมันเตาประมาณ 8,200 ล้านลิตร”การนำพลังงานจากพืชมาใช้เป็นสิ่งที่มีค่า และเป็นการใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบ และมีพื้นฐานหลักมาจากการเกษตรกรรม ซึ่ง พลังงานดังกล่าวจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้านอกจากนี้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ช่วยลดการนำเข้าพลังงานประเภท เชื้อเพลิงฟอสซิลเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น จากการขายผลผลิตการเกษตรที่เหลือใช้
ขณะเดียวกันเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนแต่อย่างใดศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์บริการครบวงจรในเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการพลังงานชีวมวล มีบริการให้คำปรึกษาทั้งด้านเทคนิค การเงินการลงทุน ด้านนโยบาย ข้อมูลชีวมวลและเผยแพร่ รวมถึงให้คำปรึกษาด้านชุมชนสัมพันธ์
สำหรับผู้ที่สนใจใช้ชีวมวลในการผลิตพลังงานหรือต้องการข้อมูล
สามารถติดต่อศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวลได้ที่ 0 2642-6424-5 หรือ
efe@efe.or.th หรือศึกษาข้อมูลได้จาก www.efe.or.th--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ