กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--สนพ.
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สร้างเตาเผาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ ประเดิมแห่งแรกที่วัดสะพานพระโขนง เผยประหยัดพลังงานกว่า 50% พร้อมกำจัดควันและกลิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสาทิส ถาวรนันท์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ผู้อำนวยการโครงการจัดสร้างเตาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเผาศพในประเทศไทยมีการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจำนวนมากและปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมสูง เนื่องจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้ออกแบบและสร้างโดยมีการควบคุมอุณหภูมิ การป้อนอากาศ การควบคุมห้องเผาอย่างถูกต้อง รวมไปถึงการใช้วัสดุไม่เหมาะสม ประกอบกับ ผู้ผลิตเตาศพในประเทศไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานของการเผาไหม้ การกำจัดควันและกลิ่น
ด้วยเหตุนี้ มช. จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงานในการทดลองศึกษาการออกแบบและก่อสร้างเตาเผาศพให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจัดสร้างแห่งแรกแล้วเสร็จที่วัดสะพานพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยเป็นลักษณะเตาเผาศพแบบ 2 ห้องเผา คือ ห้องเผาหลัก ซึ่งทำหน้าที่เผาไหม้ศพและโลงศพ ส่วนห้องเผารองทำหน้าที่เผาควันและกลิ่นก่อนที่จะปล่อยออกทางปล่อง
สำหรับเตาเผาศพแบบนี้ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดมลพิษจากการเผาศพและประหยัดพลังงาน เนื่องจากระบบการเผาศพแบบ 2 ห้องเผา จะช่วยลดปริมาณควันและสารพิษต่างๆ จากการเผาไหม้ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ก่อสร้างเป็นอิฐทนไฟ และฉนวนกันความร้อนที่อยู่ใน ผนังเหล็กกล้า สามารถสะสมความร้อนได้อย่างเหมาะสมจึงทำให้เผาศพได้รวดเร็ว โดยสามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงได้ 2 ชนิด คือ ก๊าซ LPG หรือน้ำมันดีเซล
ทั้งนี้จากการศึกษาทดลองเตาเผาศพแบบประหยัดโดยใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงพบว่าในการฌาปนกิจ 1 ครั้ง ใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 44 ลิตร ขณะที่เตาเผาศพทั่วไปใช้น้ำมันดีเซล 55-80 ลิตร และจากผลการวัดค่ามลพิษทางอากาศสามารถตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองอยู่ที่ 84.44 ลูกบาศก์เมตร โดยค่ามาตรฐานที่ กทม. กำหนดอยู่ที่ 100 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ที่ 77.31 ลูกบาศก์เมตร โดยค่ามาตรฐานที่ กทม. กำหนดอยู่ที่ 200 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนอยู่ที่ 75.87 ลูกบาศก์เมตร โดยค่ามาตรที่ฐาน กทม.กำหนดอยู่ที่ 500 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์อยู่ที่ 91.16 ลูกบาศก์เมตร โดยค่ามาตรฐานที่ กทม. กำหนดอยู่ที่ 100 ลูกบาศก์เมตร
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์แผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า สนพ.ได้ใช้เงินจากกองทุนฯ สนับสนุนการศึกษา วิจัย และพัฒนา ของ มช. เรื่องระบบการเผาศพ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล วิธีการจัดการ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเผาศพทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหาข้อสรุปนำไปใช้ในโครงการสาธิต ซึ่งในเบื้องต้นได้คัดเลือกเตาเผาศพของประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นต้นแบบ เพื่อติดตั้งเป็นศูนย์สาธิตที่วัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเตาเผาศพให้เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมประเพณีการฌาปนกิจศพในประเทศไทย จึงได้สาธิตการสร้างเตาเผาศพประหยัดพลังงานและลดมลภาวะโดยฝีมือคนไทย ที่ใช้วัสดุและอุปกรณ์ในการก่อสร้างภายในประเทศที่วัดสะพานพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าเตาเผาศพต้นแบบที่สร้างขึ้นสามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 25 หรือลดค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเผาศพได้ประมาณ 3.1 ล้านบาท ตลอดอายุการใช้งาน 15 ปี
ทั้งนี้กองทุนฯ ได้เล็งเห็นว่าการสนับสนุนให้มีการจัดสร้างเตาเผาศพแบบประหยัด พลังงานและลดมลภาวะจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติในระดับหนึ่ง ดังนั้นกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อสมทบให้กับวัดหรือฌาปนสถานเพื่อก่อสร้างเตาเผาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะอีก 4 แห่ง โดยจะให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างเตาเผาศพแบบจำนวนศพน้อย จำนวน 3 ชุด และเตาเผาศพแบบต่อเนื่อง จำนวน 1 ชุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปี 2548 ทั้งนี้จากการประเมินค่าก่อสร้างเตาเผาศพแบบจำนวนศพน้อยใช้งบประมาณในการก่อสร้างไม่เกิน 1,500,000 บาท และใช้งบประมาณสำหรับเตาเผาศพแบบต่อเนื่องไม่เกิน 3,000,000 บาท--จบ--
-นท-