สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ ที่ 11 — 15 มิ.ย. 55 และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 18 — 22 มิ.ย. 55

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 18, 2012 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--ปตท. ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 11 - 15 มิ.ย. 55 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยเพิ่มจากสัปดาห์ก่อน 0.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 96.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเบรนต์ (Brent) เฉลี่ยลดลง 2.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 97.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เฉลี่ยลดลง 1.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 83.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยปรับตัวลดลง 3.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 106.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลง 0.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 111.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่ : ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - นาย Hans Timmer ผู้บริหารธนาคารโลกคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 55 ลดลงจากครั้งก่อนอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5 % เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยรัฐบาลหลายประเทศลดงบประมาณรายจ่ายกอปรกับปัญหาหนี้เสียจากธนาคารพาณิชย์ในยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตามในปี 2556 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตดีขึ้นที่ 3.0 % โดยที่ประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญ - โรงกลั่น Port Arthur (กำลังการกลั่น 600,000 บาร์เรลต่อวัน) รัฐ Texas ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และเป็นโรงกลั่นที่ร่วมทุนกันระหว่าง Shell และ Saudi Arabia ปิดดำเนินการหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (325,000 บาร์เรลต่อวัน ) เป็นระยะเวลา 5 เดือน ระหว่าง 3 มิ.ย. ถึง เดือน ต.ค. 55 เนื่องจากได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ - สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรปรายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปเดือน เม.ย. 55 ลดลง 0.8% จากเดือนก่อน - สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Output) ในเดือน เม.ย. 55 ลดลงจากเดือนก่อน 0.7% - สำนักงานสารสนเทศทางด้านพลังงานของสหรัฐฯ มีแผนผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% อยู่ที่ระดับ 6.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - รัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรปอนุมัติเงินกู้ยืม (Bailout) 1 แสนล้านยูโร (1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ธนาคารสเปนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะ - สำนักงานสถิติจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน พ.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.2% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ - นาย Herman Nackaerts ประธานคณะผู้ตรวจสอบด้านนิวเคลียร์ของ International Atomic Energy Agency (IAEA) กล่าวว่าไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่าน และไม่มีกำหนดการเจรจาครั้งต่อไป - กรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณยอดขายรถยนต์ในเดือน พ.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16% - มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของชาติตะวันตกมีแนวโน้มกดดันให้อิหร่านลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เนื่องจากอิหร่านไม่มีที่เก็บสำรองน้ำมันที่ค้างจำหน่าย ซึ่งล่าสุดได้เก็บน้ำมันบนเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ (Very Large Crude Carrier) มากกว่า 40 ล้านบาร์เรล ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นภายหลังตลาดคาดว่าพรรค New Democracy และ PASOK ซึ่งสนับสนุนการมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อรับการช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และคงสถานะการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของกรีซได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งส่งผลให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์ ด้านปัจจัยพื้นฐาน Bloomberg รายงาน จีนนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อเก็บเป็นน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ประมาณ 90 ล้านบารเรล์ ภายในระยะเวลา 2-5 เดือน นับเวลาการเก็บปริมาณสำรองเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้เวลาน้อยที่สุดตั้งแต่ปี 2551 ขณะที่ OPEC มีแผนจะลดกำลังการผลิตให้ใกล้เคียงกับเพดานการผลิตที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค.55 (OPEC ผลิตเกินโควต้าการผลิตประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค.55) อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงเทขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่อเนื่อง โดย Commodity Future Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนล่าสุด ในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มิ.ย. 55 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2,542 สัญญา อยู่ที่ 130,508 สัญญา ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับอยู่ที่ 95.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีแนวต้านอยู่ที่ 103.50เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ