กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--วช.
"ชาวกุย" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในสังคมไทย มีถิ่นฐานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์และอุบลราชธานี ชาวกุยมีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง มีประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อถือเก่าแก่ที่น่าสนใจสะท้อนผ่านวรรณกรรมมุขปาฐะที่เรียกว่า "มนายปาเล" อันประกอบด้วย นิทาน ปริศนาทำทาย เพลง สุภาษิต คำพังเพยและผญาปาเล ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตระหนักถึงวิถีชีวิตของชาวกุยที่นับวันจะสูญหายหากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ จึงให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ นายอิศราพร จันทร์ทอง จากสถาบันราชภัฏสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ทำการวิจัยเรื่อง "มนายปาเล : ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ของพฤติกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมในหมู่ชาวกุย" เพื่อศึกษาและรวบรวมมนายปาเลให้เป็นลายลักษณ์อักษร สะท้อนภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวกุย และค้นหาความเข้าใจในธรรมชาติของกระบวนการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม โดยศึกษา มนายปาเลของกลุ่มกุยในอำเภอศีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
ผลการวิจัยพบว่า มนายปาเลที่เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะอันประกอบด้วย นิทาน ปริศนาคำทาย เพลง สุภาษิต คำพังเพยและผญาปาเล ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันไม่มากนัก โดยมีนิทาน 22 เรื่อง ปริศนาคำทายประมาณ 106 คำถาม เพลง 26 บทเพลง สุภาษิต 12 คำพังเพย 9 และผญาปาเล 5 ประโยค ซึ่งความสำคัญของมนายปาเลจะสะท้อนความสัมพันธ์ทางครอบครัว เครือญาติ การแต่งงาน ความกตัญญูกตเวทิตาต่อบุพการี เชื่อผู้ใหญ่ ความซื่อสัตย์ ความโอบอ้อมอารี การเสียสละ สอดแทรก จริยธรรม คุณธรรม ก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่พวกพ้อง สะท้อนการดำรงชีวิตของชาวกุยที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า แต่อย่างไรก็ดีความเจริญด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกุยเปลี่ยนไป จึงทำให้การสืบทอดวัฒนธรรมและวรรณกรรมมุขปาฐะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน จนกระทั่งความเป็นเอกลักษณ์ของชาวกุยเหลือน้อยลงตามอายุขัยของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เหลืออยู่ไม่กี่คน--จบ--
-นท-