Digital Agenda Thailand ระดมผู้ผลิต นักคิด และนักสร้างสรรค์ ร่วมเปิดใจเรื่อง ลิขสิทธิ์กับความคิดสร้างสรรค์ในสื่อยุคดิจิทัล และรู้ทัน AEC ในงานสัมมนาต่อเนื่องซีรีส์ 4 หัวข้อ "Content & Creativity in the Digital Thailand"

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday June 19, 2012 11:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--Digital Agenda Thailand มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) สถาบันวิชาการนโยบายสาธารณกับธุรกิจ และการกำกับดูแล (APaR) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) จับมือกับ บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) และเอ๊ซ (ACE) ในฐานะผู้บริหารจัดการงานประชุม ร่วมผลักดันโครงการ “Digital Agenda Thailand” หรือ “วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย” เป็นครั้งที่ 4 โดยจัดสัมมนาต่อเนื่องภายใต้หัวข้อ "Content & Creativity in the Digital Thailand" เพื่อเปิดเวทีระดมความคิดเห็น และสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเรื่อง “ลิขสิทธิ์” กับ ทิศทางการสร้างสรรค์ผลงานของเหล่า Content Creator ทั้งผู้ผลิต นักคิด และนักสร้างสรรค์จากแวดวงต่างๆ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับการก้าวสู่ยุคสื่อดิจิทัล และการเปิดการค้าเสรี (AEC) ในปี 2558 รศ. สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดี คณะนิติศาสตร์ และประธานสถาบันวิชาการนโยบายสาธารณกับธุรกิจ และการกำกับดูแล (APaR) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในงานสัมมนาซีรี่ส์ 4 ในหัวข้อ "Content & Creativity in the Digital Thailand" ว่าโครงการ Digital Agenda Thailand หรือ “วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย” ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อรณรงค์ให้ความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสื่อยุคดิจิทัลเพื่อให้คนไทยรู้ทันยุค และก้าวทันโลกในปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาโครงการฯ เชิญบรรดา Guru หรือผู้รู้ทางด้านดิจิทัลจากหน่วยงานต่างประเทศทั่วโลก ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักธุรกิจชาวไทย ที่มีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของ Digital ในแง่มุมต่างๆ มาถ่ายทอดให้กับคนไทย โดยการจัดสัมมนา นิทรรศการ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คนไทยเกิดการรับรู้ถึงผลกระทบและสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ให้มากที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องของ Digital ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยีหรือวิศกรรมเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องทางสังคม เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลโดยตรงต่อสังคม ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม การแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก “การจัดสัมมนาให้ความรู้ 3 ซีรี่ส์ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้เน้นกลุ่มนักธุรกิจ หรือ Key Players ที่ได้รับผลกระทบจาก digital เช่น วงการ Broadcast วงการโฆษณา นักการตลาด ผู้ผลิตรายการ เจ้าของดาวเทียม มหาวิทยาลัยต่างๆ วิศวกร รวมถึงนักธุรกิจที่สนใจ สำหรับในครั้งที่ 4 เป็นต้นไปโครงการฯ จะเริ่มเข้าถึงกลุ่มภาคประชาชนหรือ Mass มากขึ้น โดยเฉพาะใน Series 4 นี้เราเน้นเเรื่องของ Content และลิขสิทธ์ของ Content เป็นหลักเพราะในอนาคตอันใกล้ที่เรากำลังจะก้าวสู่สื่อยุคดิจิทัล กันนี้เท่ากับเวทีการสร้างสรรค์จะเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลสำหรับผู้ผลิต นักคิดและนักสร้างสรรค์ในแวดวงต่างๆ สิ่งที่จะตามมา คือการละเมิดสิทธิ์ และก๊อปปี้ผลงาน ซึ่งทุกวันนี้มีตัวอย่างให้เห็นอย่างมากมาย แต่คนไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างมาก ดังจากกรณีการถ่ายทอดฟุตบอลยูโรที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญ ระหว่าง True Vision และ Grammy เรื่องนี้คือกรณีศึกษาที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่อง กฎหมายลิขสิทธิ์ การปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ รวมถึงกฎหมายข้ามชาติที่ควรรู้ เพราะในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าที่ประเทศไทยกำลังจะเปิดเวทีการค้าเสรีกับอาเซียนเรื่องนี้คือสิ่งสำคัญในการอ้างสิทธิ์ และคุ้มครองสิทธิ์ที่เรามีอยู่ เพราะเป็นกฎหมายสากล นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นว่า กว่าที่ธุรกิจหรือรายการดีๆ รายการหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ให้เรารับชมกัน ก็มีหลายอย่างเป็นองค์ประกอบรวมถึงมันสมองและต้นทุน สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการปกป้องที่ถูกที่ควรและตามกฏหมายด้วย เช่นเดียวกับการสนับสนุนการซื้อของที่ถูกกฏหมายเช่น DVD หรือ CD ที่ถูกลิขสิทธ์เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ศิลปินในดวงใจได้ทำงานต่อไปโดยไม่ขาดทุนไม่เหมือนถูกปล้น สิ่งเหล่านี้ควรปลูกฝังให้เยาวชนและคนไทยตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อวันข้างหน้า จะได้สู้กับยุคดิจิทัลที่มีสื่อใหม่ๆ มากมายหลั่งไหลเข้ามาอย่างห้ามไม่ได้อีกต่อไป” โดยภายในงานได้มีการแสดงปาฐกถาโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์จากองค์กรต่างๆ ระดับประเทศ ประกอบด้วย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ (CEDI) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พร้อมเปิดเวทีเสวนาให้กับบรรดานักคิด (Creative) และมืออาชีพจากภาคการผลิต Content ยักษ์ใหญ่หลากหลายค่าย อาทิ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ , เอ็กแซ็กท์ , ซีเนริโอ , เจเอสแอล เจ้าของธุรกิจบันเทิง (Entertainment) นำโดย เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รวมถึง นักเขียนบทละคร โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ นักแต่งเพลง ไปจนกระทั่งผู้บริหารสื่อโทรทัศน์และสื่อต่างๆ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาส รูปแบบ เสียงสะท้อนจากการถูกกำกับดูแลเรื่องเนื้อหาจากภาครัฐ คำถามเรื่องความชัดเจนในการถูกส่งเสริมจากภาครัฐให้ไปสู่การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และช่องทางในการเติบโตของธุรกิจ Content โดยเฉพาะผู้คิดผู้สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ในยุคสื่อดิจิทัล ทั้งนี้ยังร่วมกันค้นหาจุดยืน (Positioning) และหนทางการเติบโตในสมาพันธ์อาเซียนอีกด้วย และเตรียมพบกับความหลากหลายของธุรกิจที่เป็น Chain หรือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจ Content และน่าจับตามองเป็นอย่างมาก ได้แก่ ธุรกิจการผลิตแอนิเมชั่นจากผู้บริหารค่ายยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น อิเมจิแม๊กซ์, เดอะมั๊งค์, วิธิตา รวมถึง กลุ่มน้องใหม่มาแรง ก็มาร่วมด้วยเช่นกัน การจัดสัมมนาซีรี่ส์ 4 ในหัวข้อ"Content & Creativity in the Digital Thailand" โครงการ Digital Agenda Thailand หรือ “วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย” ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)พร้อมด้วย เอ็กแซ็กท์ , ซีเนริโอ , เจเอสแอล ,เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ อิเมจิแม๊กซ์ รวมถึงกลุ่มธุรกิจเกม นำโดย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรสื่อสารมวลชนในแขนงต่างๆ ซึ่งเห็นพ้องร่วมกันเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อรู้ทันโลก ก้าวทันสื่อยุคดิจิทัลในปัจจุบัน ติดตามความเคลื่อนไหวเพื่อรู้ทันโลกยุคดิจิทัลได้ที่ www.digitalagendathailand.com หรือ 02-2548282-3 หรืออีเมล์ info.acethailand@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ