กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ธนาคารเกียรตินาคิน
ธนาคารเกียรตินาคิน จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เดินหน้าขยายผลงานวิจัยแนวทางสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดตัวโครงการ “มั่นใจ บ้านสู้น้ำ” พร้อมจัดทำคู่มือตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วมภายในโครงการสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มุ่งหวังขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าให้สำเร็จอย่างยั่งยืน และจัดทำคู่มือตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วมในบริเวณตัวบ้านสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ที่สนใจสามารถ Download ได้ที่ www.kiatnakin.co.th
นายวิศรุต ปัญญาภิญโญผล ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สายสินเชื่อธุรกิจธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ภัยพิบัติจากธรรมชาติกลายเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้ หลายคนจับตามองว่าในปี 2555 นี้ จะเป็นอย่างไร ธนาคารเกียรตินาคินในฐานะผู้สนับสนุนสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถแข่งขันได้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 โดยหลังน้ำลดธนาคารได้เชิญผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นลูกค้าธนาคาร กว่า 30 ราย ร่วมงาน KK Workshop — ทุกความคิด พลิกสถานการณ์หลังน้ำลด เพื่อระดมความคิด รวมถึงรับฟังถึงปัญหาตลอดจนอุปสรรคของลูกค้าที่อยู่ในเขตน้ำท่วม ผลจาก Workshop ทั้ง 2 ครั้ง ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของผู้ประกอบการ สามารถนำมาทำ Check List เพื่อออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม แต่ยังขาดข้อมูล Consumer Insight ของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าว จึงนำมาสู่งานวิจัยความเชื่อมั่นและความต้องการที่อยู่อาศัยบ้านจัดสรรในเขตน้ำท่วม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สนับสนุนงานวิจัยโดยธนาคารเกียรตินาคิน และจากงานวิจัยดังกล่าว ทำให้ทราบความต้องการเชิงลึกของผู้บริโภค ตามผลการสำรวจพบว่าผู้อยู่อาศัยในเขตน้ำท่วม 87% ไม่คิดจะย้ายที่อยู่อาศัย มีเพียง 13% ที่คิดจะย้าย โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าน้ำจะท่วมอีกในปี 2555
เพื่อเป็นการต่อยอดการทำ workshop ในกลุ่มผู้ประกอบการและงานวิจัยสำรวจความเชื่อมั่นและความต้องการของผู้บริโภค จึงนำมาสู่ “ใบรับรองการตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วม” โครงการ “มั่นใจ บ้านสู้น้ำ” เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาให้กับลูกค้า โดยเฉพาะโครงการบ้านแนวราบตามชานเมืองที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เพราะกลุ่มผู้บริโภคยังคงมีความต้องการอยู่อีกจำนวนมาก เนื่องจากทำเลและราคายังเป็นที่ต้องการ โดยมอบหมายให้บริษัทอินทิกรัล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและควบคุมงานก่อสร้าง เป็นผู้ตรวจสอบและประเมินให้เป็นไปตามเกณฑ์ใบรับรองการตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วมให้กับผู้ประกอบการเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ หากผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว บริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้ออกใบรับรองให้กับผู้ประกอบการไว้ใช้สำหรับสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อบ้านว่าโครงการนั้นๆว่าได้มีการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมของหมู่บ้านตามโครงการ “มั่นใจ บ้านสู้น้ำ” ซึ่งอ้างอิงมาจากงานวิจัยความเชื่อมั่นและความต้องการที่อยู่อาศัยบ้านจัดสรรในเขตน้ำท่วม ซึงจัดทำโดยภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร โดยมีธนาคารเกียรตินาคินเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยดังกล่าว ทั้งนี้ ใบรับรองดังกล่าวต้องต่ออายุทุก 1 ปี และมีวิศวกรจาก บริษัทอินทิกรัล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เข้าไปตรวจสอบคุณภาพระบบทุก ๆ 3 เดือน อนึ่ง ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคารเกียรตินาคิน สามารถ Download แบบประเมินการตรวจสอบและเกณฑ์การจัดเกรดระบบป้องกันน้าท่วมโครงการ ได้ที่ www.kiatnakin.co.th”
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ผลิตคู่มือตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วม โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
- สำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นลูกค้าธนาคารเกียรตินาคิน จะได้รับคู่มือตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วมภายในโครงการ คู่มือตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วมในบริเวณตัวบ้าน ซีดี 1 แผ่นที่มีข้อมูลแนวคิดด้านการออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม (Concept Design) การออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมทางกายภาพ (Physical Design) ทั้งบ้านใหม่ และบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว รวมไปถึงตารางวิเคราะห์ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม รวมถึงแบบบ้านสู้น้ำที่เป็น 3D Animation ที่ผู้ประกอบฯ สามารถนำไปเป็นตัวแบบในการก่อสร้างได้จริง
- สำหรับประชาชนทั่วไป โดยจะมีรายการตรวจเช็ค (check list) ที่สำคัญให้ผู้ซื้อบ้านได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยหรือใช้ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยปัจจุบันให้เป็นบ้านสู้น้ำ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับคู่มือดังกล่าวได้ที่โครงการอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าธนาคารเกียรตินาคิน หรือดาวน์โหลดได้ที่ www.kiatnakin.co.th
ศาสตราภิชาน รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากคู่มือสำหรับผู้ซื้อบ้าน และใบรับรองที่ผู้เชี่ยวชาญได้ออกให้แก่ผู้ประกอบการ เชื่อว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 และช่วยให้ผู้ประกอบการได้คิดหารูปแบบโครงการหรือบ้านที่มีระบบรองน้ำได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบในอนาคตได้เป็นอย่างดี
จากงานวิจัย ได้สรุปหัวข้อสิ่งที่ผู้ประกอบการควรจัดเตรียมให้สำหรับโครงการบ้านจัดสรรซึ่งได้จัดทำเป็นคู่มือตรวจสอบโครงการ ใน 5 อันดับแรกที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ ยกมิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านให้สูง 3 เมตร (สำหรับพื้นที่น้ำท่วมสูงเกิน 2 เมตร) แยกหม้อแปลงไฟฟ้าส่วนกลาง ออกจาก หม้อแปลงส่วนบ้าน รั้วโดยรอบโครงการทึบและไม่ให้น้ำลอดผ่าน ระบบระบายน้ำในโครงการมีประตูน้ำที่ manhole พร้อมเครื่องสูบน้ำ และจัดทำถังประปาส่วนกลาง และได้สรุปหัวข้อสิ่งที่บ้านแต่ละหลังควรมีเพื่ออยู่กับน้ำได้ในภาวะน้ำท่วม ซึ่งได้จัดทำเป็นคู่มือตรวจสอบตัวบ้าน อาทิ มีตู้ไฟฟ้าติดเบรกเกอร์กันดูด ตู้ไฟฟ้าแยกวงจรชั้นบน/ล่าง มีแสงสว่างฉุกเฉิน ยกเต้ารับให้สูงจากระดับถนนภายใน +1.30 เมตร มีแผง SOLARCELL มีพื้นที่สำหรับห้องรับแขกและห้องอาหารบนชั้น 2 จัดทำห้องใต้หลังคา ยกพื้นชั้นล่าง ทำพื้นสนามคอนกรีตแทนสนามหญ้า และที่สำคัญในคู่มือสำหรับผู้ประกอบการ ได้เสนอแบบก่อสร้างบ้าน 2 ชุด คือ ระบบป้องกันของหมู่บ้าน (หมู่บ้านสู้น้ำ) และระบบป้องกันของตัวบ้าน (บ้านสู้น้ำ) ประกอบไปด้วยระบบป้องกันของหมู่บ้าน แบ่งแบบออกเป็น 2 ส่วนคือ
- ระบบกายภาพ และระบบเตรียมการปฎิบัติการช่วยเหลือ
- ระบบป้องกันของตัวบ้านประกอบด้วย แบบถมถนนและพื้นบ้าน ห้องใต้หลังคา ห้องอเนกประสงค์ชั้นสอง แบบระเบียงชั้นสอง ระบบประปา สุขาภิบาลห้องน้ำชั้นล่าง แบบระบบไฟฟ้า แบบระบบไฟฟ้าสำรองจาก SOLAR PV
การทำงานร่วมกับระหว่างธนาคารเกียรตินาคิน ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรในโครงการ “มั่นใจ บ้านสู้น้ำ” นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเลื้อกซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะผลักดันให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศเติบโตได้ดียิ่งขึ้น”