กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ก.ไอซีที
นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ให้การต้อนรับคณะกรรมการ บริหารโครงการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับการศึกษาของประเทศไทย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ชุดที่มีนายอานนท์ ทับเที่ยง ที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประธาน โดยได้มีการประชุมหารือร่วมกันในเรื่อง “การจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับการศึกษาของประเทศไทย” เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาและลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับการศึกษาของประเทศ
นายอานนท์ ทับเที่ยง ที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาฯ กล่าวว่า แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับการศึกษาของประเทศไทย ถือเป็นงานสำคัญที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จาก ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมดำเนินการขับเคลื่อน และพัฒนาเนื้อหาสาระให้เกิดขึ้น เพื่อให้ได้แผนแม่บทฯ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
ด้าน นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงของการใช้แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย (พ.ศ.2552 -2556) โดยในแผนแม่บทฯ ฉบับนี้มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา คือ การพัฒนากำลังคน ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การเพิ่มทักษะการใช้ประโยชน์สารสนเทศ ที่กำหนดระดับทักษะการใช้ไว้ 5 ระดับ และมีโครงการเร่งด่วนรองรับ อาทิ โครงการนำร่องการจัดการเรียนการสอนสหกิจศึกษา ที่เน้นการปฏิบัติงานจริงกับภาคอุตสาหกรรม โครงการส่งเสริมการผลิตบุคลากรระดับปริญญาโทสายวิศวกรรมซอฟท์แวร์และวิทยาการซอฟต์แวร์ โครงการจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางด้าน ICT เพื่อผลิตบุคลากรที่มีทักษะสูง เป็นต้น
นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการสำคัญที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำลังดำเนินการร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประกอบการเรียนการสอนอยู่ในขณะนี้ ก็คือ โครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์แบบพกพา (แท็บเล็ต) ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ (One Tablet PC per Child) ซึ่งได้มีการส่งมอบเครื่องแท็บเล็ตครั้งแรกจำนวน 2,000 เครื่อง ในเดือนพฤษภาคม 2555 เพื่อการทดสอบการใช้งาน จากนั้นจึงจะทยอยส่งมอบจนครบจำนวนภายในสิ้นปีงบประมาณ 2555 เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงเรียนที่มีความพร้อมในด้านเครือข่ายสัญญาณและสามารถรองรับการใช้งานเป็นลำดับแรก โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการเร่งปรับปรุงความพร้อมของโครงข่ายบริการในพื้นที่โรงเรียนต่างๆ ตามกลุ่มเป้าหมาย