กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--พม.
เมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.๕๕ เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ อิมแพ็ค นายเสรี วชิระถาวรชัย รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน การประชุมเชิงปฏิบัติการกระบวนการเสริมสร้างต้นทุนชีวิต (ครู ก.) โครงการส่งเสริมงานวิชาการและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชน ด้วยพลังต้นทุนชีวิต ภายใต้โครงการ ปาฏิหาริย์แห่งชวิต (Miracle of Life) ในพระดำริ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
นายเสรี วชิระถาวรชัย รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า โครงการปาฏิหาริย์แห่งชีวิต(Miracle of Life) ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระองค์ทรงมีพระดำริและทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ในการส่งเสริมสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาสและมีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของตนเองอย่างเหมาะสม การมีส่วนร่วมในการสร้างค่านิยมและทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการให้และการแบ่งปัน การปลูกจิตสำนึกให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและการปลูกฝังให้รู้จักการเป็น“ผู้ให้” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน แต่ปัจจุบัน โลกยุคเทคโนโลยีทำให้การดำเนินชีวิตคำนึงถึงวัตถุนิยม ห่างไกลธรรมชาติ แย่งกันเรียน แย่งกันอยู่ เด็กคร่ำเคร่งกับการเรียน ผู้ใหญ่คร่ำเคร่งกับการทำงาน คุณค่าที่จำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีถูกคำนึงถึงน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนชีวิตถูกลดลงตามไป ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆในสังคม สมัยก่อนสังคมไทยเป็นครอบครัวขยาย มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน รู้จักการแบ่งปัน แต่ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเปลี่ยนไปเป็นสังคมเมือง ครอบครัวเริ่มอ่อนแอ ชุมชนขาดความเข้มแข็ง ต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนในปัจจุบันจึงอ่อนแอลงตามไป
นายเสรี กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้น้อมนำพระดำริมาดำเนินกิจกรรมส่งเสริมงานวิชาการและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชน ด้วยพลังต้นทุนชีวิต ภายใต้แนวคิด “ต้นทุนชีวิต...การให้เพื่อสังคม” โดยนำผลงานทางวิชาการทางด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น เรื่อง ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นงานวิชาการของ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และคณะแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนทุนของสำนักงานกองทุนและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาพัฒนาต่อยอด อีกทั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ในการปฏิบัติจริงของเด็ก เยาวชน และเจ้าหน้าที่ เป็นการสานต่อกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนสู่การเป็นผู้ให้ เพื่อพัฒนากระบวนการและนวัตกรรมในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การสร้างวินัย หน้าที่ และจิตอาสาให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการส่งเสริมพัฒนางานวิชาการให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างเพิ่มขึ้น ใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ เป็นคู่มือในการพัฒนาเด็กและเยาวชนแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเพื่อศึกษาแนวทางในการเสนอแนะเชิงนโยบายและปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป.