GBX ไม่แนะซื้อทองคำเหตุแนวโน้มไร้ทิศทางคนถือหากกำไรให้แบ่งขาย-Short โกลด์ ฟิวเจอร์ส

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 20, 2012 09:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์ บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้งฯชี้ไม่ควรลงทุนซื้อทองคำแม้ราคาปรับตัวลดลง หลังเห็นแนวโน้มไร้ทิศทาง เผยราคาอาจขึ้นลงได้ถึง 30 ดอลลาร์/ออนซ์ ย้ำปัญหาสเปน เข้าข่ายเดียวกับกรีซยังเป็นตัวกดดันราคา แนะจับตาต่างประเทศโดยเฉพาะการประชุมเฟดหากมีข่าวดีเรื่อง QE3 ดันราคาทองพุ่งแน่ มองกรอบลงทุน 1,610-1,640 ดอลลาร์/ออนซ์ หากหลุด 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ให้ขายตัดขาดทุน เพราะมีโอกาสปรับลงถึง 1,582 ดอลลาร์/ออนซ์ นายทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด(มหาชน) (GBX) เปิดเผยแนวโน้มการลงทุนทองคำระหว่างวันที่ 19-22 มิ.ย.55 ว่า ราคาทองคำยังถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของสเปนในเรื่องผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปนอายุ 10 ปี มีการปรับตัวขึ้นสูงกว่า 7% ส่งผลให้นักลงทุนยังเกิดความกังวลว่าสเปนจะเข้าข่ายต้องขอรับความช่วยเหลือจาก EU เข่นเดียวกับกรีซ และโปรตุเกส เช่นเดียวกับกรีซที่แม้ว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่ผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างพรรคนิว เดโมเครซีที่สนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัด และรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่แม้จะช่วยให้หลายฝ่ายคลายกังวลประเด็นที่ที่กรีซจะถอนตัวออกจากยูโรโซน แต่ส่งผลให้ค่าเงินยูโรมีการแข็งค่าขึ้นสวนทางกับราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าราคาทองคำในปัจจุบันไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัย(Safe Haven) เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคามีการปรับตัวขึ้นลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนหันกลับไปลงทุนในด้านอื่นโดยเฉพาะหุ้นที่การแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี รวมถึงค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้กรอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคามีไม่มากนัก สำหรับการลงทุนในสัปดาห์นี้ไม่แนะนำนักลงทุนเข้าซื้อ “เก็งกำไร” เนื่องจากราคาทองคำมีโอกาสจะปรับตัวขึ้นหรือลง 30 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นแนวโน้มแบบไร้ทิศทาง โดยหากติดตามราคาทางฝั่งยุโรปจะมีการขายออกจนราคาปรับตัวลง ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียมีการซื้อจนทำให้ราคาสามารถปรับตัวขึ้นไปได้ ส่วนนักลงทุนที่ถือครองทองคำอยู่ให้ทยอยขายออกบางส่วน เนื่องจากมีแนวโน้มที่ราคาจะหลุดแนวรับมาที่ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์มาที่ 1,586 ดลลาร์/ออนซ์ มากกว่าแนวโน้มที่ราคาจะสามารถยืนเหนือกรอบแนวต้าน 1,640 ดอลลาร์/ออนซ์เพื่อไปทอสอบแนวต้านที่ 1,670 ดอลลาร์/ออนซ์ ดังนั้น มองกรอบการลงทุนในสัปดาห์นี้ที่ 1,610-1,640 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 23,990-24,440 บาท/บาททอง ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ นักวิเคราะห์ทองคำ บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ กล่าวว่า นักลงทุนยังคงต้องติดตามปัจจัยต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯที่หลายฝ่ายหวังข่าวดีในเรื่องมาตรการ QE3 ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ นักลงทุนควรติดตามปัจจัยในเรื่องอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นผลการการประชุม G-20, ดัชนีภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี ZEWและยอดอนุญาตสร้างบ้านสหรัฐฯ, การประกาศอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ, ดัชนีภาคการผลิตจีน HSBC, ยอดผู้ขอรับสวัสดิการสหรัฐฯ, ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐและยอดขายบ้านมือสองสหรัฐฯ และท้ายสัปดาห์เรื่องของ German Ifo Business Climate ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองพอสมควร สำหรับราคาทองคำโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยราคาทองคำอยู่ที่ 1,628ดอลลาร์/ออนซ์ (ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 10.00น.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 34 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือคิดเป็น 2.14% ทำจุดสูงสุดไว้ที่ 1,633.20 ดอลลาร์/ออนซ์ และทำจุดต่ำสุดไว้ที่ 1,582.49 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นตลอด 5 วันทำการของสัปดาห์ที่ผ่านมาจากสเปนได้รับเงินช่วยเหลือจากทาง EU จำนวน 1 แสนล้านยูโรเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการช่วยเหลือภาคธนาคาร และยอดค้าปลีกสหรัฐฯที่ประกาศออกมาในวันพุธแย่กว่าที่คาดไว้ โดยในวันต่อมายอดผู้ขอรับสวัสดิการสหรัฐฯประกาศออกมาแย่กว่าคาดด้วยเช่นกัน ทำให้นักลงทุนมีความคาดหวังมากขึ้นว่าในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันที่ 19-20 มิ.ย.ทางเฟดอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาแย่กว่าที่คาด แต่ราคาทองคำยังคงถูกกดดันจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนและธนาคารพาณิชย์อีก 18 แห่ง รวมถึงธนาคารพาณิชย์อีก 5 แห่งในเนเธอร์แลนด์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนทองคำไทยที่สนใจใช้ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาทในการซื้อขายทองคำที่เป็นราคาไทย สามารถป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาทโดยทำการ Short USD Futuresได้ หากต้องการสอบถามข้อมูลการลงทุนหรือซื้อขายเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ 02-672-5995 กด 0 ตั้งแต่เวลา 9.00 — 24.00 น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ