กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สายการบินแอร์เอเชีย
เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แอร์เอเชียถือกำเนิดขึ้น พร้อมปรับโฉมใหม่เป็นสายการบินราคาประหยัดแห่งแรกของเอเชีย จากจุดเริ่มต้นด้วยฝูงบินแบบโบอิ้ง 737 จำนวน 2 ลำ ให้บริการ 6 เส้นทางภายในประเทศมาเลเซีย และพนักงานจำนวน 250 คน หลังจากนั้น 10 ปีต่อมา กลุ่มแอร์เอเชียขยายสู่ 6 สายการบินในเครือ ได้แก่ แอร์เอเชีย มาเลเซีย, ไทย แอร์เอเชีย, แอร์เอเชีย อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ แอร์เอเชีย, แอร์เอเชีย แจแปน และแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ให้บริการเส้นทาง 142 เส้นทาง สู่ 80 ปลายทาง ด้วยฝูงบินใหม่ทั้งหมด ประกอบด้วย เครื่องบินแอร์บัส เอ320 จำนวน 103 ลำ เครื่องบินแอร์บัส เอ330 จำนวน11 ลำ และเครื่องบิน แอร์บัส เอ340 1 ลำ ปัจจุบันกลุ่มแอร์เอเชียมีพนักงานหรือที่เรียกว่าแอร์เอเชีย ออลสตาร์ ประมาณ 10,000 คน ซึ่งมาจากทั้งในชาติอาเซียน เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันตก และเอเชียใต้ รวมทั้งอีกหลายประเทศทั่วโลก
การเติบโตอย่างตื่นตาตื่นใจและท้าทายของแอร์เอเชียใน 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนต่อตัวเราเอง ดังในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กลุ่มแอร์เอเชียจึงได้ประกาศแผนการในอนาคตที่จะมีตามมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนการระยะสั้น เรายังคงรักษาอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามปกติ แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจในหลายส่วนของโลก นอกจากนั้นแอร์เอเชียกำลังจะร่วมลงทุนในธุรกิจอื่นนอกเหนือจากธุรกิจการบิน เพื่อเพิ่มรายได้จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ โดยร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างเช่น การร่วมเป็นพันธมิตรกับ ซีเออี (CAE) บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านเทคโนโลยีการฝึกบิน และเอ็กซ์พีเดีย (Expedia) บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน นอกเหนือไปจากการเพิ่มศักยภาพสายการบินโดยการขยายฝูงบินและเปิดเส้นทางใหม่เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อไปยังอาเซียนและที่อื่นๆ
ด้วยเรื่องราวกล่าวมานี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าเมื่อแอร์เอเชียจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง กลยุทธ์ และการดำเนินการ เพื่อรักษาวิถีทางของเราที่ดำเนินมา ในระยะสั้น เราจำเป็นต้องเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นสู่ระดับภูมิภาค จากเดิมที่ในทศวรรษแรกเรามุ่งเน้นเฉพาะภายในประเทศ ทั่วอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียใต้มีประชาชนกว่า 3 พันล้านคน ซึ่งเดิมไม่เคยเข้าถึงการเดินทางด้วยเครื่องบิน จึงถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญ แอร์เอเชียซึ่งเลือกจะเปิดตลาดกับคนกลุ่มนี้ จึงอยู่ในสถานะที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจากตลาดที่มีศักยภาพ
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ เราได้ก่อตั้งสำนักงานประจำภูมิภาค ในนามแอร์เอเชีย อาเซียน (AirAsia Asean) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนงานนี้จะแยกจากสำนักงานสายการบินแอร์เอเชียในแต่ละประเทศที่เราให้บริการ ทั้งในด้านกายภาพและแนวคิด ขณะนี้เราอยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างการบริหารเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่แผนการเติบโตในอนาคต ตามแนวคิดที่วางไว้ แอร์เอเชีย อาเซียนจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ไร้ความกดดันจากการดำเนินงานในแต่ละวันและชีวิตที่ต้องเร่งรีบ เพื่อให้ผู้จัดการอาวุโสของเรามีพื้นที่ เวลา และได้ปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งมีส่วนสำคัญมากที่จะช่วยให้เราบินสูงขึ้นไปอีกในทศวรรษที่ 2
โทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย กล่าวว่า “เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ผมขอแจ้งว่า สำนักงานใหญ่ของแอร์เอเชีย มาเลเซีย จะไม่ได้ย้ายไปที่กรุงจาการ์ตา แอร์เอเชียมาเลเซียคือสายการบินที่จดทะเบียนในมาเลเซีย ฝูงบินทั้งหมดได้รับการจดทะเบียนภายใต้ธงชาติมาเลเซีย รวมทั้งเราเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซา มาเลเซีย ทั้งหมดนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แอร์เอเชียยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินตามคำมั่นสัญญาที่ให้กับชาวมาเลเซียว่า ใครๆ ก็บินๆ ได้”
“การก่อตั้งสำนักงานแอร์เอเชีย อาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา เพื่อเป็นฐานประจำภูมิภาค จะช่วยให้เราดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่เรามีต่อชาวอาเซียน เราภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้อยู่ในภูมิภาคที่มีสภาพเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่าจะมีมรสุมเศรษฐกิจพัดผ่านทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา เราชื่อว่าการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของแอร์เอเชียมาให้ความสำคัญกับภูมิภาค ไม่เพียงจะดีกับธุรกิจ แต่ยังจะช่วยให้เราพร้อมสู่การแข่งขันที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเข้ามาในเส้นทางของเรา ขณะที่คนอื่นมุ่งเน้นที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดกับตลาดในประเทศ เราได้ขยายเส้นทางของเราไปทั่วภูมิภาค ไม่มีตลาดภายในประเทศในประเทศไหนในอาเซียน แม้แต่อินโดนีเซีย จะมีศักยภาพเทียบเท่าตลาดรวมทั้งอาเซียนที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน และหากรวมตลาดในเอเชียตะวันออกจะมีประชากรราว 2 พันล้านคน” โทนี่กล่าวเพิ่มเติม
“ปัจจุบันแอร์เอเชียมาเลเซียมีฝูงบินแอร์บัส เอ320 จำนวน 58 ลำ ให้บริการผู้โดยสารจำนวน 30 ล้านคน และมีรายได้กว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่ไทย แอร์เอเชียและแอร์เอเชีย อินโดนีเซียมีฝูงบิน 24 ลำ และ 18 ลำตามลำดับ ประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของมาเลเซีย ขณะที่แอร์เอเชีย อินโดนีเซียมีประชากรถึง 240 ล้านคน และมีเศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในเอเชีย ในความเป็นจริง ผมเชื่อมั่นในจาการ์ตา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอินโดนีเซีย และมีประชากรถึง 15 ล้านคน ถือเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในมาเลเซีย นอกจากนั้นเรายังมีฟิลิปปินส์ ซึ่งมีประชากร 90 ล้านคนทั่วประเทศ ปัจจุบันแอร์เอเชียฟิลิปปินส์มีฝูงบิน 2 ลำ ส่วนการเริ่มให้บริการสายการบินราคาประหยัดในญี่ปุ่นมีสัดส่วนตลาดแค่ 7% เราจึงได้เปิดตัวแอร์เอเชีย แจแปน ให้บริการจากโตเกียว เริ่มด้วยเครื่องบิน 1 ลำ ทั้งหมดนี้คือการเติบโตของเราในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มาเลเซียเป็นตลาดที่เติบโตได้ที่แล้ว ขณะที่ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่นยังมีความเป็นไปได้ที่น่าสนใจ ซึ่งจะทำให้กลุ่มแอร์เอเชียขยายตัวได้อีก” โทนี่อธิบาย
แอร์เอเชีย อาเซียน จะทำหน้าที่เป็น “ศูนย์กลางความคิด” ของการขยายเครือข่ายสู่ภูมิภาค ซึ่งจะดำเนินการเหมือนกับ สำนักงานของไรอันแอร์ ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นศูนย์วางแผนกลยุทธ์ของสารการบินราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แอร์เอเชีย อาเซียน จะช่วยเราในแบบเดียวกัน เพื่อให้เสียงและแนวทางของเรามีพลังในอาเซียน ดังนั้นหนึ่งในเหตุผลที่เราก่อตั้งแอร์เอเชีย อาเซียน เพื่อช่วยให้เราทำงานใกล้ชิดกับสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตา นอกจากนั้นการตั้งสำนักงานภูมิภาคในอินโดนีเซียยังจะมีผลดีต่อแอร์เอเชีย อินโดนีเซีย ซึ่งกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์จาการ์ตาในปลายปีนี้ด้วย
ขณะนี้กลุ่มแอร์เอเชียกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อให้สำนักงานภูมิภาคพร้อมเปิดตัวให้บริการ ตามที่กล่าวมาข้างต้น