บทพิสูจน์ความทนทานของฟอร์ด โฟกัส ใหม่

ข่าวยานยนต์ Wednesday June 20, 2012 17:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--Hill+Knowlton Strategies วิศวกรในประเทศอังกฤษทดสอบฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้จำลองสภาพแวดล้อมแบบต่างๆ เพื่อความมั่นใจว่า ฟอร์ด โฟกัส ใหม่ จะพร้อมรับมือกับสภาพอากาศในระดับวิกฤติ ห้องทดลองพิเศษด้านสภาพแวดล้อมนี้ สามารถจำลองสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิหนาวเย็นถึงลบ 40 องศาเซลเซียล ไปจนถึงอุณหภูมิร้อนจัดที่ 55 องศาเซลเซียส และมีระดับความชื้นสูงสุดถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เครื่องวัดพลังงานตัวถัง (ไดนาโมมิเตอร์) ในห้องทดลองดังกล่าว สามารถจำลองสภาพแวดล้อมเลียนแบบการขับขี่มีความเร็วถึง 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่อุโมงค์ลม 2 อุโมงค์ สามารถสร้างแรงลมที่มีความเร็วสูงสุดถึง 225 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อทดสอบการทำงานของเครื่องยนต์ ดันตั้น เอสเซ็กส์ — ฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ผ่านการทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมสุดโหดมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบท่ามกลางสภาพอากาศหนาวจัดของประเทศสวีเดน หรือในอากาศที่ร้อนราวกับเตาอบในทะเลทรายอริโซน่า รวมทั้งยังผ่านการทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความกดดันมากที่สุด นั่นคือการทดสอบภายในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้านสภาพแวดล้อม ภายในศูนย์วิจัยทางเทคนิคและวิศวกรรมของฟอร์ดในเมืองดันตั้น แคว้นเอสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ ช่างเทคนิคประจำศูนย์วิจัยทางเทคนิคและวิศวกรรมของฟอร์ดในเมืองดันตั้น สามารถจำลองสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ได้ด้วยการกดปุ่มควบคุมเพียงครั้งเดียว อากาศธรรมดาๆ ภายในห้องทดลองก็จะค่อยๆ ทวีความร้อนขึ้นจนระอุถึง 55 องศาเซลเซียส และเมื่อต้องการปรับให้อากาศเย็นลง พวกเขาก็ทำได้ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน ด้วยความช่วยเหลือจากระบบทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพถึง 28 ตัน ปรอทวัดอุณหภูมิภายในห้องทดลองจึงลดฮวบลงเพื่อบอกอุณหภูมิติดลบ 40 องศา ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้านอุณหภูมิในเมืองดันตั้น นับว่าเป็นหนึ่งในห้องทดลองอันทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งเมื่อเทียบกับห้องทดลองอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน จากการลงทุนถึง 26.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.67 พันล้านบาท) สถานที่แห่งนี้จึงประกอบด้วยห้องทดสอบ 4 ห้อง (โดย 2 ห้องได้รับการติดตั้งอุโมงค์ลมที่ใช้ในการทดสอบทางอุณหพลศาสตร์ หรือ เทอร์โมไดนามิกส์) ห้องแช่รถ 6 ห้อง และพื้นที่เวิร์กช็อปเพื่อเตรียมความพร้อมของรถอีก 1 แห่ง นอกจากนี้ ห้องทดลองดังกล่าวยังมีโพรงทดสอบรถที่ระดับความสูงต่างๆ ซึ่งสามารถจำลองการใช้งานได้ตั้งแต่ความสูงที่ 100 เมตรต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ไปจนถึงความสูงที่ 4,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ใช้เวลาหลายพันชั่วโมงอยู่ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์แห่งนี้ เพื่อพิสูจน์ว่ารถยนต์ระดับโลกคันล่าสุดของฟอร์ดพร้อมรับมือกับทุกสภาพอากาศไม่ว่าจะร้อนหรือหนาวจัดขนาดไหน “ฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ผ่านการทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมในการขับขี่จริงๆ มาแล้ว แต่การทดสอบดังกล่าวนับว่ามีข้อจำกัด เพราะเราไม่สามารถควบคุมความดุดันของสภาพอากาศในแต่ละวันได้” มร. บรูซ เธอร์เคทเทิล ผู้ดูแลห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้านสภาพแวดล้อม กล่าว “ภายในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ เราสามารถจำลองสภาพแวดล้อมทุกแบบที่ฟอร์ด โฟกัส จะต้องเผชิญในการใช้งานจริงๆ ในแต่ละวัน เราจำลองอุณหภูมิได้ตั้งแต่ลบ 40 องศา ถึงบวก 55 องศา และจำลองความชื้นได้ที่ระดับสู.สุดถึง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่กำหนด รวมทั้งยังจำลองแสงพิเศษเพื่อเลียนแบบรังสีจากดวงอาทิตย์ที่มีความร้อนได้เทียบเท่ากับการขับขี่ในเขตเส้นศูนย์สูตร” ผ่านร้อน ผ่านหนาว การทดสอบติดเครื่องยนต์ท่ามกลางอากาศหนาวจัดคือหนึ่งในบททดสอบที่เกิดขึ้นในห้องทดลองแห่งนี้ โดยหลังจากแช่รถที่ใช้ทดสอบไว้ภายในห้องที่มีอุณหภูมิติดลบ 30 องศา เป็นเวลา 16 ชั่วโมง รถคันดังกล่าวจะถูกส่งไปยังห้องทดสอบซึ่งปรับความเย็นไว้ที่ระดับเดียวกัน เพื่อทดสอบการขับขี่บนสายพานจำลองสภาพถนน จากนั้น วิศวกรจะติดเครื่องและทดสอบขับไประยะหนึ่งเพื่อพิสูจน์ว่าระบบต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างไร้ปัญหา เนื่องจากโดยปกติแล้ว อากาศที่หนาวจัดจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานของระบบไฟฟ้าที่ใช้ในการส่งพลังงานเพื่อก่อให้เกิดกระบวนการสันดาปในเครื่องยนต์เมื่อขับไปถึงความเร็วระดับหนึ่ง นอกจากนี้ สภาพอากาศดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบต่อชิ้นส่วนอื่นๆ อาทิ หัวเผาเครื่องยนต์ หัวฉีด และหัวเทียนอีกด้วย อีกหนึ่งบททดสอบที่เกิดขึ้นในห้องทดลองแห่งนี้ก็คือการทดสอบระบบปรับอากาศ โดยวิศวกรจะอบรถในห้องที่มีอุณหภูมิร้อนถึง 50 องศาเซลเซียส ก่อนจะติดเครื่องยนต์และเปิดแอร์ เพื่อจับเวลาว่าระบบปรับอากาศต้องใช้เวลาเท่าไรในการปรับอุณหภูมิภายในห้องโดยสารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการขับขี่ ทั้งนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของการทดสอบทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในห้องทดลองในเมืองดันตั้น เป็นการทดลองที่เกี่ยวข้องกับการปรับจูนเครื่องยนต์ โดยใช้เครื่องวัดพลังงานตัวถังหรือไดนาโมมิเตอร์ ที่สามารถจำลองสภาพแวดล้อมเลียนแบบการขับขี่มีความเร็วถึง 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่อุโมงค์ลม 2 อุโมงค์ สร้างแรงลมที่มีความเร็วสูงสุดได้ถึง 225 กิโลเมตร/ชั่วโมง “หนึ่งในสถานที่ทดสอบการขับขี่ที่ความสูงระดับต่างๆ นั่นคือ การขับไปบนถนน กรอสล็อกเนอร์ ไฮ อัลไพน์ ในประเทศออสเตรีย ซึ่งห้องทดลองแห่งนี้สามารถจำลองสภาพการขับขี่แบบเดียวกับที่ความสูงดังกล่าวได้ และเรายังปรับระดับความกดอากาศให้สอดคล้องกับการขับขี่ที่ระดับความสูงแตกต่างกันได้อีกด้วย ดังนั้น เมื่อเราทดสอบการขับขี่ที่ความสูงมากกว่า 3,000 เมตร วิศวกรทดสอบระบบจึงต้องสวมหน้ากากออกซิเจนช่วยหายใจเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพ” มร. เธอร์เคทเทิล อธิบาย “ข้อดีที่สุดของการทดสอบในห้องทดลองนี้ก็คือ เราจำลองสภาพแวดล้อมในการขับขี่แบบต่างๆ ได้อย่างแม่นยำไม่ว่าจะเป็นช่วงใดของปี ระดับอุณหภูมิอาจเบี่ยงเบนไปเพียง 0.6 องศา ความชื้นเบี่ยงเบนไม่เกิน 0.7 เปอร์เซ็นต์ และระดับความสูงต่างจากสถานที่จริงไม่เกิน 10 เมตร ทั้งหมดนี้คือความแม่นยำทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เราคำนวณการทำงานของรถได้อย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องกังวลถึงความแปรผันต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อทดสอบในสถานที่จริง” แม้ว่าในการใช้งาน จะมีผู้ขับขี่เพียงไม่กี่คนที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดโหดแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในห้องทดลองในเมืองดันตั้น แต่ผู้ขับขี่ย่อมอุ่นใดเมื่อได้รู้ว่าหากวันหนึ่งอากาศร้อนขึ้นหรือเย็นลงอย่างเฉียบพลัน ฟอร์ด โฟกัส ของคุณก็พร้อมรับมืออยู่เสมอ “เราทรมานรถคันนี้อย่างหนักในห้องทดลอง เพื่อให้ลูกค้าของเราขับขี่รถฟอร์ดได้อย่างสบายใจ ตั้งแต่วันแรกของการวางจำหน่าย” มร. เธอร์เคทเทิล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ