กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
“ประเพณีการตักบาตรน้องใหม่ มทร.ธัญบุรี” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางองค์การนักศึกษา และชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จัดขึ้นมา ว่าแต่โครงการดีๆ แบบนี้มีความเป็นมาอย่างไร ไปฟังเจ้าของบ้านเล่ากันเลยจ๊ะ
นายวิรัช โหตระไวศยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ชมรมพุทธศาสตร์ ก่อตั้งมาครบ 18 ปี และกำลังก้าวสู่ปีที่ 19 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาต้องขอชื่นชมชมรมพุทธฯ ที่ได้ดำเนินกิจกรรมด้านพุทธศาสนาเป็นอย่างดียิ่งและเข้มแข็งมาก ที่สำคัญคือต่อเนื่องมาโดยตลอด มีการวางระบบการบริหารจัดการที่ดียิ่ง และทีมงานที่ผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น และกิจกรรมที่จัดในครั้งนี้มีผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษารุ่นพี่และรุ่นน้อง มาร่วมงานเป็นจำนวนมากกว่า 8,000คน น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง และคาดว่านักศึกษาใหม่ทุกคนจะมีความประทับใจอย่างแน่นอน
“เคน” นายจอมพล สังข์เงิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ประธานศิลปะและวัฒนธรรม องค์การนักศึกษา มทร.ธัญบุรี เล่าว่า กิจกรรมตักบาตรน้องใหม่ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และครบรอบ 2600 ปี พุทธยันตี ในการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งในครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นชีวิต ณ บ้านหลังใหม่ เริ่มต้นสิ่งใหม่ ด้วยใจที่บริสุทธิ์ “ปลูกฝังหน้าที่ของชาวพุทธที่ดี” โดยมีนักศึกษาใหม่ทั้งหมด 10 คณะ 1 วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กว่า 8,000 คน
“โอ๊ต” นายพิพัฒน์ ส้มลิ้ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานชมรมพุทธ เล่าว่า กิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นมาเพื่อ “ปลูกจิตสำนึกของการให้” โดยเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน กิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วยการทำบุญตักบาตรของน้องใหม่โดยมีพระสงฆ์จำนวน 99 รูป จากวัดพระธรรมกาย วัดอัยยิการาม วัดพลาหาร และวัดหัตถสารเกษตร การถวายภัตตาหารเช้า ถวายสังฑทาน และการนั่งสมาธิในเรื่องการทำบุญ 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ สำหรับ 18 ปีของชมรมพุทธ มทร.ธัญบุรี ได้จัดกิจกรรมให้กับชาวชมรมพุทธ มีสมาชิกอยู่ประมาณ 500 คน โดยกิจกรรมสำหรับสมาชิกจะมีการทำบุญตักบาตรทุกเช้าวันพฤหัสบดี ปล่อยปลาทุกเย็นวันอังคาร “ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ ดังนั้นชาวพุทธที่ดีควรอยู่อย่างวิถีพุทธ”
“แปม” นางสาวปาลิน นวลหงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปศาสตร์ เล่าว่า เกิดในเมืองพุทธ ควรทำหน้าที่ชาวพุทธ การตักบาตรถือเป็นอีกหน้าที่หลักของชาวพุทธที่ดี ถือว่าวันนี้เป็นโอกาสพิเศษที่ได้ตักบาตรร่วมกับเพื่อนๆ เริ่มต้นชีวิตนักศึกษาใหม่ เป็นการปลูกฝังให้นักศึกษา “คิดดี ทำดี พูดดี” ให้ทุกคนตระหนักรู้ หันกลับมาทำบุญ เข้าวัดฟังธรรมะ ส่วนใหญ่วัยรุ่นไทยนานๆจะเข้าวัด ข้ออ้างที่สำคัญคือไม่มีเวลา ส่วนตัวจะเข้าไปทำสังฆทานกับพ่อและแม่ ในวันอาทิตย์
“กาย” นายศุภฤกษ์ อ่อนเรียง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า ส่วนใหญ่จะเข้าวัด เพราะว่า พ่อแม่ชวนไปทำบุญ แต่ไม่ได้เข้าวัดนานแล้ว ในวันนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์อีกกิจกรรมหนึ่งสำหรับน้องใหม่ ก่อนเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหนังนี้ ส่วนตัวชอบกิจกรรมแบบนี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ กระตุ้นให้เรารู้จักคำว่า “การให้” ทุกวันนี้วิถีในการดำรงชีวิตของวัยรุ่นเปลี่ยนไปมาก เรียนเสร็จ เข้าร้านเกมส์ ร้านเหล้า ไม่สนใจในการเข้าวัด มหาวิทยาลัยฯ จัดกิจกรรมอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ดี ทุกคนจะได้หยุดคิด ว่าเกิดเป็นชาวพุทธ ควรหลีกเลี่ยงจากอบายมุขทั้งหลาย ที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น
“ปลูกจิตสำนึกของการให้ ตามวิถีชาวพุทธ ซึ่งวิถีสังคมที่เปลี่ยนแปลง วัดเป็นเพียงสถานที่หนึ่งที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา น้อยคนที่จะเข้าไปทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม” กิจกรรมตักบาตรน้องใหม่ มทร.ธัญบุรี เป็นอีกกิจรรมที่ต้องการสร้างความตระหนักให้กับวัยรุ่นในหน้าที่ของชาวพุทธ ตามวิถีพุทธ เช่นเดียวกับ ชมรมพุทธศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ที่ก่อตั้งมา 18 ปี ตามวิถีที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม