ประชาชนคิดอย่างไร? กรณี หญิงสาวใช้หน้าอกวาดภาพ ในรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนท์ 2012

ข่าวทั่วไป Thursday June 21, 2012 11:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--นครสวรรค์โพล ประชาชนเกือบ 80% เห็นว่าการแสดงโชว์ของหญิงสาวใช้หน้าอกวาดภาพไม่เหมาะสม !! และทำให้วัฒนธรรมไทยเสื่อมเสีย เกือบ 90% !!กรณีการแข่งขัน "ไทยแลนด์ก็อตทาเลนท์ 2012" ที่สร้างความฮือฮาจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กับโชว์ของผู้แข่งขัน หญิงคนหนึ่งที่มาแสดงทักษะทางด้านศิลปะด้วยการใช้หน้าอกแทนพู่กันละเลงสีไปทั่วผืนผ้าใบ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการแสดง โชว์ลักษณะนี้เหมาะสมกับรูปแบบของรายการหรือไม่ และมีผลทำให้วัฒนธรรมไทยเสื่อมถอยมากน้อยเพียงใด “นครสวรรค์โพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปที่ติดตามรายการหรือสนใจติดตามข่าวนี้ จำนวน 1,244 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2555 สรุปผลได้ดังนี้ 1. ประชาชนคิดอย่างไร? กับข่าวที่เกิดขึ้น อันดับ 1 เป็นการแสดงที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย 61.17% อันดับ 2 ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและมุมมองของแต่ละคน ว่าจะมองเป็นศิลปะหรือไม่ / ในต่างประเทศ ก็มีการแสดงแบบนี้มานาน มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา 16.50% อันดับ 3 ทางผู้ผลิตรายการ /ทีมงาน ไม่ควรนำการแสดงชุดนี้มาออกอากาศ กลัวว่าจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ให้กับเยาวชนหรือมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบ 11.65% อันดับ 4 รู้สึกตกใจ หดหู่ใจเมื่อเห็นภาพจากการแข่งขันหรือจากข่าวที่นำเสนอ ไม่คิดว่าจะกล้าทำขนาดนี้ 6.80% อันดับ 5 คิดว่าเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตรายการที่ต้องการนำเสนอการแสดงชุดนี้ให้เป็นไปตามรูปแบบของรายการ /เป็นความแปลกใหม่และเป็นการสร้างกระแสให้คนสนใจติดตาม /มองว่าเป็นเรื่องของการทำงานมากกว่า 3.88% 2. ประชาชนคิดว่าการแสดงโชว์ของผู้แข่งขันหญิงด้วยการใช้หน้าอกแทนพู่กันละเลงสีไปทั่วผืนผ้าใบเป็นศิลปะหรือไม่? อันดับ 1 ไม่เป็นศิลปะ 67.85% เพราะ จากการแสดงที่ปรากฎออกมา ไม่ได้มีความสวยงามหรือดูเป็นศิลปะมากพอ คิดว่าหลายๆคนที่กล้าถอดเสื้อผ้าก็น่าจะทำได้ เหมือนกัน ,ดูแล้วไม่เหมาะสมและขัดต่อวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างมาก ฯลฯ อันดับ 2 เป็นศิลปะ 32.15% เพราะ ปัจจุบันการนำเสนอผลงานทางด้านศิลปะมีมากมายหลายแบบ ผู้ชมควรเปิดใจให้กว้าง ,การแสดงโชว์ลักษณะนี้ในต่างประเทศ ก็เคยมีมาก่อนมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลมากกว่า ฯลฯ 3. ประชาชนคิดว่าการแสดงโชว์ลักษณะนี้เหมาะสมกับรูปแบบของรายการ"ไทยแลนด์ก็อตทาเลนท์2012" ที่ระบุว่า ("แค่กล้าก็ชนะแล้ว") หรือไม่? อันดับ 1 ไม่เหมาะสม 79.29% เพราะ ทางทีมงานหรือผู้จัดรายการควรมีการประชุมหรือพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะนำเสนอสู่สาธารณะชน เนื่องจากการ แสดงโชว์ลักษณะนี้ไม่เหมาะสมกับสังคมและวัฒนธรรมประเพณีไทยอย่างยิ่ง ส่งผลเสียต่อผู้ที่เกี่ยวข้องมากกว่า ฯลฯ อันดับ 2 เหมาะสม 20.71% เพราะ รูปแบบของรายการก็บอกเอาไว้อยู่แล้วว่า ถ้าผู้แข่งขันมีความกล้าที่จะแสดงความสามารถออกมาเพื่อเอาชนะใจกรรมการ หรือคนดูคุณก็มีสิทธิ์ที่จะได้ลุ้นหรือชนะการแข่งขันได้ ฯลฯ 4. ประชาชนคิดว่าการแสดงโชว์ลักษณะนี้ทำให้วัฒนธรรมไทยเสื่อมเสียหรือไม่? อันดับ 1 เสื่อมเสีย 87.14% เพราะ ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงไทยดูไม่ดี คนทั่วไปรับรู้ว่าเมืองไทยมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามโดยเฉพาะการอบรมสั่งสอน เพศหญิงให้เป็นคนรักนวลสงวนตัว มีกริยามารยาทที่เรียบร้อย ฯลฯ อันดับ 2 ไม่เสื่อมเสีย 12.86% เพราะ วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งดีงามแต่คนส่วนใหญ่มักดึงเอาความคิดเห็นส่วนตัวมาเกี่ยวข้องจนแยกแยะไม่ถูก ในต่างประเทศ ก็มีการแสดงลักษณะนี้มานาน มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาและเป็นการแสดงที่เป็นสากล ฯลฯ 5. “บทเรียน” ที่ได้รับจากการแสดงโชว์ครั้งนี้คืออะไร? อันดับ 1 ส่งผลให้คนรอบข้าง /คนในครอบครัว ต้องตกเป็นเป้าให้สังคมหรือสื่อขุดคุ้ยประวัติ ชีวิตส่วนตัว 58.73% อันดับ 2 ในสังคมปัจจุบันหากมีข่าวที่เป็นประเด็นหรืออยู่ในกระแสที่สังคมให้ความสนใจ สื่อต่างๆก็จะนำเสนอข่าวหรือเผยแพร่อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ทำให้ควบคุมยาก ส่งผลให้เรื่องบานปลายมากขึ้น 26.98% อันดับ 3 ทั้งทีมงาน ผู้ผลิตรายการและผู้แข่งขัน ควรมีการพิจารณา ตรึกตรองอย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป ดูผลดี ผลเสียที่ตามมาว่าคุ้มค่าหรือไม่ 14.29% 6.วิธีการป้องกันและแก้ไขเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก อันดับ 1 ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไปทางทีมงาน ผู้ผลิตรายการควรมีการประชุมและพิจารณาไตร่ตรอง อย่างรอบคอบ /ขอความคิดเห็นจากหลายๆฝ่ายพร้อมรับฟังอย่างเปิดกว้าง 45.10% อันดับ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับ ควบคุม ดูแลสื่อ จะต้องมีมาตรการหรือสั่งห้ามไม่ให้มีการแสดงลักษณะนี้และไม่ให้มีการถ่ายทอดทางสื่อโทรทัศน์อย่างเด็ดขาด 33.33% อันดับ 3 สื่อต่างๆต้องช่วยกันตรวจสอบและนำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์ไม่ใช่มุ่งหวังแต่ขายข่าวเพียงอย่างเดียว 21.57%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ