ชาวอีสานกังวลฟุตบอลยูโรทำอาชญากรรมพุ่ง เชื่อรัฐกวาดล้างโต๊ะบอลไม่ได้ กว่า 1 ใน 3 หนุนพนันบอลถูกกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Thursday June 21, 2012 13:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--ECBER อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นของชาวอีสานกับการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012” ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ที่กำลังจัดขึ้น และความคิดเห็นต่อการพนันฟุตบอลที่คาดว่าจะมีการเล่นพนันกันมากในช่วงเวลาดังกล่าว โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-17 มิถุนายน 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 654 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด ผลสำรวจพบว่า ชาวอีสานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการพนันทายผลฟุตบอล และไม่ต้องการให้มีการพนันบอลถูกกฎหมาย นอกจากนี้ชาวอีสานครึ่งหนึ่งยังกังวลปัญหาเกี่ยวกับการลัก/วิ่ง/ชิง/ปล้น ทรัพย์สินมากที่สุดเพราะผลพวงจากการพนันทายผลฟุตบอลยูโร 2012 โดยมีชาวอีสานเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่คิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐ จะสามารถป้องกัน/แก้ไข และกวาดล้างโต๊ะพนันฟุตบอลได้ เมื่อถามความเห็นของชาวอีสานเกี่ยวกับการเล่นพนันทายผลฟุตบอล ชาวอีสานส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 73.4 ไม่เห็นด้วย ส่วนอีกร้อยละ 15.3 รู้สึกเฉยๆ และมีผู้ที่เห็นด้วยร้อยละ 11.3 ซึ่งเมื่อถามต่อถึงความกังวลของชาวอีสานต่อมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับปัญหาการลักทรัพย์/ชิงทรัพย์/วิ่งราว/ปล้นทรัพย์ ร้อยละ 49.9 รองลงมาคือกังวลว่านักเรียน/นักศึกษา จะเสียการเรียน ร้อยละ 27.52, ไม่กังวลเลย ร้อยละ 9, กังวลว่าจะมีปัญหาการทำร้ายร่างกาย/ฆาตกรรม ร้อยละ 7.9, ปัญหายาเสพย์ติด ร้อยละ 5.5 และ ปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาหนี้สิน การกู้เงินนอกระบบ ร้อยละ 1.5 ส่วนประเด็นของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการป้องกัน/แก้ไข และกวาดล้างโต๊ะพนันบอล ชาวอีสานกว่าร้อยละ 66.51 คิดว่า รัฐไม่สามารถป้องกัน/แก้ไข และกวาดล้างโต๊ะพนันบอลได้ มีชาวอีสานที่คิดว่ารัฐสามารถทำได้เพียงร้อยละ 27.52 (อีกร้อยละ 5.96 คิดว่าสามารถทำได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น) ส่วนคำถามประเด็นสุดท้าย ได้ถามความเห็นชาวอีสานเกี่ยวกับการยอมให้มีการรับพนันถูกกฎหมายในประเทศไทยได้ ชาวอีสานมีความเห็นอย่างไร พบว่า กว่าร้อยละ 68.2 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า หากยอมให้มีการพนันถูกกฎหมาย อาจทำให้มีปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว อาชญากรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังเห็นว่า แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย แต่ก็ผิดศีลธรรม, ส่วนชาวอีสานอีกร้อยละ 31.8 เห็นด้วยที่จะให้มีการพนันถูกกฎหมาย โดยให้เหตุผลหลากหลาย เช่น เป็นแหล่งรายได้เข้าสู่รัฐ, จะทำให้บ่อนการพนันที่ผิดกฎหมายลดน้อยลง และเห็นว่า แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามอย่างเช่นในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีการลักลอบเล่นพนันผิดกฎหมายอยู่ดี เป็นต้น “แม้กระแสของการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 จะมีให้เห็นได้ทั่วไป แต่ชาวอีสานส่วนใหญ่ยังคงรู้สึก ไม่เห็นด้วยกับการเล่นพนันทายผลฟุตบอล รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการพนันบอลถูกกฎหมายในประเทศ เพราะคิดว่าจะนำมาซึ่งปัญหาสังคมอื่นๆ และขัดต่อหลักศีลธรรม แต่เป็นที่น่าสนใจที่เกือบ 1 ใน 3 สนับสนุนให้การพนันบอลถูกกฎหมาย เพื่อลดโต๊ะบอลเถื่อนและหารายได้เข้ารัฐ นอกจากนี้คนอีสานส่วนใหญ่คิดว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่สามารถป้องกัน/แก้ไข และกวาดล้างปัญหาโต๊ะพนันฟุตบอลได้ ทั้งนี้อาจรวมไปถึงอบายมุขอื่นๆ ที่ยังคงมีการลักลอบเล่นกันอยู่ทั่วไปด้วย” ดร.สุทิน กล่าว ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 50.6 เพศชาย ร้อยละ 45.4 ส่วนใหญ่อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 29.4 รองลงมาอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 27.4 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 24.2 อายุ 46-55 ปี ร้อยละ 15.7 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 3.4 โดยเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ร้อยละ 41.8 และอยู่นอกเขตเมือง ร้อยละ 58.2 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 38.1, ไม่ได้เรียนหนังสือ/ประถมศึกษา ร้อยละ 17.6, มัธยมศึกษาตอนปลาย-ปวช. ร้อยละ 15.3, อนุปริญญา-ปวส. ร้อยละ 12.2, มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 9.3, ระดับปริญญาโท ร้อยละ 6.8 และปริญญาเอก ร้อยละ 0.8 ด้านอาชีพส่วนใหญ่มีอาชีพรับราชการ-รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 20, นักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 18, เกษตรกร ร้อยละ 15.6, พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ14.6, รับจ้างทั่วไป-ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.3, ค้าขาย-ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.5, อาชีพแม่บ้าน ร้อยละ 3.2 และอื่น ๆ ร้อยละ 1.7 ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่รายได้ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 29.3, รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 29.3, รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 15.3, รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 11.9, รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 10.8 มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 3.5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ