คณะทำงานการแรงงานฯ เร่งศึกษาการจัดระบบประกันสังคมถ้วนหน้า หวังหนุนแรงงานให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

ข่าวทั่วไป Thursday June 21, 2012 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11-13 มิถุนายน 2555 คณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและสัมมนาเรื่อง “การจัดระบบประกันสังคมถ้วนหน้า” ณ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์คลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม และนำข้อมูลที่ได้จากการสัมมนามาสังเคราะห์เป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2555 นายชวลิต อาคมธน ประธานคณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม นำสมาชิกคณะทำงาน ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์คลองเปียะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ มีความเข้มแข็งมากกลุ่มหนึ่ง โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การบริหารจัดการ การระดมเงินออม การจัดสวัสดิการชุมชน และการกำกับดูแลภายในกลุ่ม ซึ่งวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มคือ เน้นการพัฒนาคนให้มีคุณธรรม จริยธรรม เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่บ้าน และตำบล รวมถึงต้องการจัดสวัสดิการให้สมาชิกอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ภายใต้กติกาของกองทุน จากการลงพื้นที่ทำให้ทราบว่า การสร้างความเข้มแข็งของกองทุนนั้นมาจากความสามัคคีของคนในชุมชน และความโปร่งใสในการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่เป็นการสมัครใจเพื่อกลุ่มโดยเฉพาะ ต่อมา วันอังคารที่ 12 มิถุนายน 2555 เป็นการสัมมนาเรื่อง “ระบบประกันสังคมถ้วนหน้า” ณ โรงแรมพาวีเลียน จังหวัดสงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 100 คน แบ่งเป็นตัวแทนจากสาขาต่างๆ อาทิเช่น อาสาสมัครสาธารณสุขในโรงเรียน (อสร.), แรงงานนอกระบบ, เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา เป็นต้น นายอุดร ชัยวราภรณ์ ประกันสังคมจังหวัดสงขลา กล่าวถึงประกันสังคมว่า ใน จ.สงขลานั้นการทำงานเรื่องแรงงานนอกระบบประสบผลสำเร็จได้ก็เพราะผู้นำชุมชน, ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและรองผู้ว่าฯ ที่รับผิดชอบหน่วยงานในสังกัด เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการดำเนินการให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลาประสบผลสำเร็จ ทางสำนักงานฯ นั้นลงพื้นที่ทุกแห่งในจังหวัด อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้ ความเข้าใจ และความตั้งใจจริงของชุมชนนั้นๆ “สำนักงานประกันสังคมมีเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีเงินออมที่มาจากประชาชนอยู่จำนวนมาก แต่ทว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัย มีการวิเคราะห์แล้วว่า เงินออมจำนวนนี้นั้นยังมีไม่มากพอ และในอนาคตอาจมีปัญหาเกิดขึ้นภายหลัง เพราะในปัจจุบันมีการเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากผู้ประกันตนเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การจ่ายคลอดบุตร จากเดิม 2,500 บาท ในปัจจุบันเป็น 13,000 บาท ซึ่งการเก็บเงินประกันสังคมหรือการออมนี้ก็เปรียบเสมือนการหยดน้ำลงในโอ่งวันละหยด แต่เมื่อนำน้ำนั้นออกมาใช้ มักจะใช้ในจำนวนที่มากกว่าตอนที่ใส่เข้าไป” นายอุดรฯ กล่าว ด้านนายศิลา แก้วตะพันธ์ สำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคม กล่าวเสริมในประเด็นเรื่องสำนักงานประกันสังคมว่า หลักการของประกันสังคมคือ จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบความเดือดร้อนในชีวิต โดยเก็บเงินสมทบจากสมาชิกตามรายได้ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ ในต่างประเทศนั้นจะเป็นระบบหลักในการดูแลประชาชน และรายได้ส่วนหนึ่งมาจากภาษีของประชาชน แต่มีข้อจำกัดคือยังคุ้มครองลูกจ้างไม่ครบทุกสาขาอาชีพ เช่น ประมง ป่าไม้ ฯลฯ และกลุ่มที่หลีกเลี่ยง ซึ่งน่าจะมีจำนวนประมาณ 10 ล้านคนขึ้นไป นอกจากนี้ นายศิลาฯ ยังพูดถึงประเด็นของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 อีกว่า* ข้อจำกัดของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ สิทธิประโยชน์ไม่จูงใจมากพอเมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิของลูกจ้าง รวมถึงสถานที่จ่ายเงินยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และควรมีแนวทางการพัฒนาคือ ให้คุ้มครองสำหรับคนทำงานบ้าน, ปรับบำนาญชราภาพ, รัฐบาลจ่ายเงินสมทบได้ตามกฎหมาย, ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ บางคนต้องการรับสิทธิเจ็บป่วยวันแรก บางคนต้องการเพิ่มค่าจัดทำศพ, เพิ่มช่องทางการจ่ายเงิน และควรเพิ่มทางเลือกที่ 3 ในการจ่ายเงินสมทบ สำหรับผู้ที่พอมีเงินจ่าย และให้สิทธิมากขึ้น ทั้งนี้ ในการสัมมนา ได้มีการนำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหัวข้อและประเด็นการสัมมนาว่า ควรแต่งตั้งคนในหมู่บ้านให้ชัดเจน เพื่อรับหน้าที่ตามเก็บรวบรวมเงินประกันสังคมจากชาวบ้าน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่พื้นที่ที่อยู่ไกลจากสถานที่จ่ายเงินประกันสังคม นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนหนึ่งมองว่ากระบวนการทำงานของรัฐบาลยังมีความอ่อนด้อยในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และการพัฒนาฝีมือแรงงาน และยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องในอนาคตเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) จะมีแรงงานจากประเทศอื่นๆ เข้ามาแย่งพื้นที่การทำงานของแรงงานไทยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเสร็จสิ้นการสัมมนาและการศึกษาดูงานแล้ว คณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาสังเคราะห์เป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ