บ้านจัดสรรระยองรุกที่ป่ามีทางออก

ข่าวทั่วไป Thursday June 21, 2012 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กรมป่าไม้ จากกรณีประชาชนที่ซื้อบ้านจัดสรร ภายในโครงการบ้านทรัพย์สมบูรณ์ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง จำนวน 129 หลัง ต้องทุกข์ระทมอย่างหนัก หลังจากเข้าข่ายต้องรื้อถอน เพราะกรมที่ดินออกโฉนดทับเขตป่าสงวนเขาภูดอนของกรมป่าไม้ 28 ไร่ อยู่ในข่ายต้องเพิกถอน เหมือน"วังน้ำเขียวโมเดล" ส่งผลให้ชาวบ้านหมู่บ้านทรัพย์สมบูรณ์ สูญเงินนับล้าน แต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ระทมหนักสุดหลังหยุดผ่อนธนาคาร โดนไล่ฟ้องจนอ่วมอีก นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า หลังจากชาวบ้านไปร้องกปร.จังหวัด ทางกปร.จังหวัด ก็มีหน้าที่พิจารณาและก็นำเรื่องร้องมาพิจารณาพิสูจน์กัน วิธีพิสูจน์ ก็คือจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มาแปลงภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อพิสูจน์ว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อน การประกาศที่ดินเขตป่าสงวนฯ หรือไม่ เรื่องก็จะยุติ ปัจจุบันแม้ชาวบ้านจะมีโฉนดที่ดิน แต่ก็คงทำได้แค่ปลูกต้นไม้ในนามของกรมป่าไม้เท่านั้น ที่สำคัญสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ซื้อบ้าน ก็เกิดความไม่สบายใจ เพราะทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าบ้านจัดสรรดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ซึ่งในหลายพื้นที่ก็เป็นลักษณะนี้ ทั้งนี้ ที่ดินบริเวณดังกล่าวได้ประกาศเป็นที่ดินสงวนหวงห้าม ตั้งแต่ปี 2486 ต่อมาปี 2492 ก้ได้มีการประกาศที่ดินตรงนี้ให้เป็นพระราชกฤษฎีกาเขตหวงห้ามที่ดิน ในท้องที่ต.ห้วยโขง และต.สำนักสะท้อน อ.เมือง จ.ระยอง ตั้งแต่ ปี 2492 โดยให้เป็นที่สงวนหวงห้ามใช้ในราชการของกรมป่าไม้ และต่อมาพื้นที่ตรงนี้บางส่วนก็ได้ประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ นายประยุทธ กล่าวอีกว่าการสรุปของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 ของชลบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ของกรมป่าไม้ ได้ตรวจสอบพบว่า กรมที่ดินอ้างว่าที่ดินบริเวณนี้มี สค.1 สค.1 เป็นเอกสารที่กรมที่ดินออกให้กับเกษตรกร ซึ่งมาแจ้งการครอบครองที่ดินตามพระราชบัญญัติที่ดิน พ.ศ.2497 เพราะฉะนั้น สค.1 ออกต้องหลังปี 2497 ที่ดินก็อ้างว่าที่ออกโฉนดให้แปลงนี้เพราะว่ามี สค.1 มาแสดง ก็เลยออกให้ สรุปคือ ที่ดินแปลงนี้ออกหลังเขตสงวนหวงห้ามในราชการของกรมป่าไม้ เพราะเขตนั้นออกตั้งแต่ พ.ศ.2492 ซึ่งที่ดินแปลงนี้ออกหลังจากที่ทางราชการได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินเขตนี้ไว้แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 และการออกเอกสารโฉนดแปลงนี้ที่อ้างว่า เอา สค.1 มาออก จึงเป็นการออกไปทับในที่สงวนหวงห้ามที่มีการประกาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 ส่วนการปลูกบ้านจัดสรรกันมาตั้งนานแล้ว จึงอยากจะให้ทางกรมป่าไม้เพิกถอนตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น ชาวบ้านต้องไปแจ้งความประสงค์กับทางจังหวัด ซึ่งทุกจังหวัดจะมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ หรือกปร. เพราะกปร.มีหน้าที่ที่จะต้องแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรซึ่งอ้างว่าได้อยู่มาก่อนที่ดินหวงห้ามของทางราชการ และถ้ามีมติคณะรัฐมนตรีที่อ้างว่าให้เพิกถอนพื้นที่ตรงนี้ ก็ให้นำหลักฐานไปเสนอ กปร.จังหวัดด้วย กปร.จังหวัด มีหน้าที่ที่จะพิสูจน์ความถูกต้องให้กับชาวบ้าน ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งของหน่วยงานราชการที่จะนำเสนอปัญหาของเชาวบ้าน หากว่าทาง กปร.จังหวัดมีการนำเสนอให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการ ก็สามารถที่จะทำได้ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า สมมติว่าชาวบ้านเอาเรื่องนี้ไปร้องขอต่อกปร.จังหวัด แล้วมีการตรวจพิสูจน์กันเสร็จเรียบร้อยแล้วว่าหมู่บ้านนี้ก็ยังอยู่ในเขตป่า แนวทางที่กรมป่าไม้จะต้องดำเนินการ คือ กรมที่ดินจะต้องเพิกถอนเอกสารใดๆ ก็ตามที่ออกในที่ดินผืนนี้ไป เพราะว่าเป็นที่ดินสงวนหวงห้ามของทางราชการ ใช้ในราชการของกรมป่าไม้ พอถอนแล้วก็กลับมาเป็นที่ป่า แต่ถ้าชาวบ้านยังอยากอยู่ ทางกรมป่าไม้เองก็มีกฎหมายที่จะรองรับให้ชาวบ้านอยู่ได้ ก็ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ อำนาจของอธิบดีก็อนุญาตให้ชาวบ้านอยู่ได้ แต่ว่าต้องอยู่ภายใต้กฎหมายป่าไม้ แต่จะไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ โดยชาวบ้านต้องยื่นขอใช้ประโยชน์ที่ดินตรงนี้จากกรมป่าไม้ แต่จะไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ที่จะเอาไปจำนองกับธนาคาร เอาไปขาย หรือทำธุรกรรมใดๆ ทั้งนั้น “อย่างดีที่สุดก็คือผ่อนผันให้อยู่ได้ แต่จะให้เอาไปขายไปทำเป็นเงินไม่ได้ มาขอที่ดินเพื่ออยู่อาศัยในเขตป่าไม้ของเราได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ก็ต้องทั้งหมู่บ้านเลย” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว นายประยุทธ กล่าวด้วยว่า อยากฝากพี่น้องประชาชนว่า หากซื้อที่ดินใดๆ ก็ตาม จะต้องตรวจสอบว่ามีเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อาทิ โฉนดที่ดิน หรือ นส.3 หรือ นส.3 ก. เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยกรมที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ใบพบท.5 นั้นไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ที่ดิน เป็นเพียงผู้ที่ทำประโยชน์ในที่ดินของประเทศ และไปเสียภาษีที่ดินกับทางฝ่ายปกครอง ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ และสิ่งที่ควรระมัดระวัง คือ ถ้าเป็นที่ดินที่อยู่ตรงภูเขา หรือว่าเป็นที่เชิงเขาที่มีความลาดชันสูงๆ หรือเอียงมากๆ ขอให้คิดไว้ก่อนเลยว่าที่ตรงนั้นออกเอกสารสิทธิ์ใดๆ ไม่ได้ ส่วนที่ดินที่ยังมีต้นไม้มาก ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ที่ตรงนั้นไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมาย เพราะว่าที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายจริงๆ โดยปกติจะมีการทำประโยชน์ จะมีการปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตาม หากโฉนดที่ดินตรงนั้นที่ซื้อมา สามารถขอตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ขอให้เสำเนาโฉนด ไม่ใช่เอาที่เปล่าๆ มาให้ตรวจ กรมป่าไม้จะไม่ตรวจให้ เพราะถ้าตรวจพบว่าเป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ เลย ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ