กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันมูลค่า 1,500 และ 1,000 ล้านบาทของ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EASTW) ที่ระดับ “A+” โดยสะท้อนสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ประกอบการหลักในการจัดส่งน้ำดิบในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกซึ่งมีอุปสงค์ในระดับสูงและแนวโน้มที่ดีในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า การจัดอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทที่อยู่ในระดับต่ำ โครงสร้างผู้ถือหุ้นซึ่งมีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คณะผู้บริหารที่มีความสามารถและมากประสบการณ์ ตลอดจนกระแสเงินสดที่ค่อนข้างแน่นอนจากธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการลงทุนจำนวนมากในช่วง 3 ปีข้างหน้าและความเสี่ยงที่จะเกิดจากการเริ่มโครงการใหม่ๆ แม้ว่าการไม่ได้รับอนุญาตจากกรมชลประทานในการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำจำนวน 3 แห่งในระยะยาวจะมิใช่ข้อจำกัดต่ออันดับเครดิตของบริษัท แต่ทริสเรทติ้งจะติดตามนโยบายภาครัฐที่อาจมีผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่บริษัทจะได้รับในอนาคตอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า EASTW ก่อตั้งในปี 2535 โดยมติของคณะรัฐมนตรีที่ต้องการให้มีบริการน้ำดิบที่แน่นอนเพื่อสนองความต้องการของพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกทั้ง 7 จังหวัด โดยในเบื้องต้น กปภ. ถือหุ้น 100% ในบริษัท และภายหลังได้ลดสัดส่วนลงเหลือ 44% ในปัจจุบันหลังจากบริษัทขายหุ้นเพิ่มทุนแก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และประชาชนทั่วไป แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นของ กปภ. จะลดลงอีกหลังจากแผนการเพิ่มทุนแล้วเสร็จในช่วงหลังของปี 2547 แต่ กปภ. ก็จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทต่อไปด้วยสัดส่วนประมาณ 40% การมี กปภ. เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้รับผิดชอบในการให้บริการน้ำประปาแก่ผู้บริโภคทั่วประเทศยกเว้นในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการมีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัททั้งในด้านข้อมูลข่าวสารและการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่รับผิดชอบด้านทรัพยากรน้ำ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ทั้ง กปภ. และ กนอ. ต่างก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในสัดส่วนประมาณ 65%-72% ของรายได้จากการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในการจำหน่ายน้ำดิบนั้น บริษัทไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับลูกค้ายกเว้นกับผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงในการสูญเสียลูกค้าที่ค่อนข้างต่ำเนื่องจากความจำกัดของแหล่งน้ำทดแทน แม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้ให้สัมปทานแก่บริษัทในการดำเนินงานและการจัดการระบบท่อส่งน้ำดิบในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกแต่เพียงรายเดียว แต่การเข้าสู่ธุรกิจยังคงมีอุปสรรคสูงอยู่เนื่องจากเป็นการยากสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ในการหาแหล่งน้ำและขออนุญาตวางท่อส่งน้ำในเส้นทางอื่นที่เหมาะสม ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้บริษัทเสมือนเป็นผู้มีอำนาจผูกขาดในการให้บริการน้ำดิบในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
บริษัทมีผลประกอบการที่ดีในอดีตจากอุปสงค์ของน้ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเป็นผู้ผูกขาดทางการตลาด และผู้บริหารของบริษัทมีความสามารถและมีประสบการณ์ โดยผู้บริหารได้นำระบบ Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA) มาใช้ในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านการควบคุมและติดตามภาวะการไหลของน้ำ ระบบการส่งน้ำ ปริมาณการบริโภคน้ำของลูกค้าแต่ละราย และระบบการซ่อมบำรุงที่กระทำได้ตลอดเวลา ในปี 2536 บริษัทได้ทำสัญญาระยะเวลา 30 ปีกับกระทรวงการคลังในการเช่าระบบจ่ายน้ำดิบ หลังจากนั้นก็ได้ลงทุนขยายระบบการจ่ายน้ำดิบด้วยตนเองเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าระบบจ่ายน้ำที่บริษัทใช้ในปัจจุบันจะยังไม่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการบำรุงรักษา แต่บริษัทก็มีแผนการขยายงานที่ใช้เงินทุนค่อนข้างสูงประมาณ 2,500-2,800 ล้านบาทต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อขยายพื้นที่ให้บริการสำหรับรองรับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยการลงทุนนี้จะทำให้อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้น และจะทำให้ระดับเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้ในระยะปานกลางลดลง ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะต้องใช้เวลาที่จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 26.6% เมื่อเดือนมีนาคม 2547 โดยการก่อหนี้ส่วนใหญ่ใช้ไปในการขยายธุรกิจ แม้ว่าในอนาคตอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับปัจจุบันเพราะจะมีการกู้เงินมาใช้ในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะ 3 ปีข้างหน้า แต่สัดส่วนหนี้ต่อทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในขณะที่กระแสเงินสดและการทำกำไรของบริษัทค่อนข้างแน่นอนซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัท โดยเงินทุนจากการดำเนินงานได้ปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับจาก 299 ล้านบาทในปี 2542 เป็น 499 ล้านบาทในปี 2546 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้สุทธิมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดและอยู่ที่ 47.5% เมื่อเดือนกันยายน 2546 เนื่องจากบริษัทไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้ทันกับเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่บริษัทขยายกิจการ ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--