ธสน. รุกปล่อยสินเชื่อ 100,000 ล้านบาทตามแผนกลยุทธ์ระยะเวลา 5 ปี

ข่าวทั่วไป Wednesday June 30, 2004 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--ธสน.
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) พร้อมประกาศใช้แผนกลยุทธ์ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2548 — 2552) ปรับบทบาทและแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารในเชิงรุกเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและตั้งเป้าหมายสินเชื่อรวมให้มียอดคงค้างที่ 100,000 ล้านบาทภายในปี 2552
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ธสน. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธสน. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2547 ได้ให้ความเห็นชอบแผนกลยุทธ์ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2548 — 2552) เพื่อกำหนดบทบาทและนโยบายในการดำเนินงานของ ธสน. ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยในด้านการตลาด ธสน. จะมุ่งพัฒนาองค์กรให้มีความเชี่ยวชาญทางการเงินยิ่งขึ้นเพื่อเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกสำหรับผู้สนใจส่งออกและลงทุนในต่างประเทศ และบรรลุเป้าหมายยอดสินเชื่อคงค้างที่ 100,000 ล้านบาทภายในปี 2552 เทียบกับประมาณ 43,000 ล้านบาทในปัจจุบัน นอกจากนั้น แม้ว่า ธสน. จะให้บริการที่มีมาตรฐานเดียวกับธนาคารพาณิชย์ แต่จะไม่ดำเนินธุรกิจที่แข่งขันโดยตรงกับธนาคารพาณิชย์ และพร้อมที่จะประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อกระตุ้นและเสริมระบบบริการทางการเงินที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ประธานกรรมการ ธสน. เปิดเผยต่อไปว่า ภายใต้แผนกลยุทธ์ระยะเวลา 5 ปีที่ ธสน. จะนำไปปรับปรุงให้เป็นแผนการดำเนินงาน 5 ปีต่อไปนั้น ธสน. มุ่งจะเป็นธนาคารผู้นำในการสนับสนุนการลงทุนไทยในต่างประเทศ สนับสนุนกิจการที่จะขยายตัวหรือปรับตัวจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรี และมุ่งสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย เช่น การให้สินเชื่อและความรู้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ เช่น ยานยนต์ อาหาร สิ่งทอ แฟชั่น ซอฟต์แวร์ แม่พิมพ์ รองเท้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา บรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ตลอดจนการสนับสนุนการสร้างความเป็นเลิศของกลุ่มธุรกิจที่ไทยมีความได้เปรียบ อาทิ โครงการครัวไทยสู่โลกและดีทรอยต์แห่งเอเชีย เป็นต้น
นายปกรณ์กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างคล่องตัว ธสน. จึงต้องปรับโครงสร้างองค์กร โดยแยกงานฝ่ายรับประกันการส่งออกและการลงทุนต่างประเทศ โดยจัดตั้งเป็นฝ่ายรับประกันการส่งออกซึ่งจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา วิเคราะห์และพิจารณาการรับประกันการส่งออกสินค้า และฝ่ายโครงการระหว่างประเทศซึ่งมีหน้าที่วิเคราะห์ผู้ลงทุนและผู้นำเข้าในต่างประเทศรวมทั้งพิจารณาการให้สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ธสน. จะจัดตั้งฝ่ายกลยุทธ์และรัฐกิจสัมพันธ์ขึ้น เพื่อทำหน้าที่วางแผนและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารให้ชัดเจนและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของประเทศยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มบทบาทเชิงรุกในการเป็นผู้ประสานงานและสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานเศรษฐกิจของภาครัฐเพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศเป้าหมายให้ประสบผลสำเร็จดียิ่งขึ้น
ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ