กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรงอุตสาหกรรม แถลงว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 (มกราคม-มีนาคม 2547) สินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานทั้ง 5 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มเซรามิก แก้วและกระจก กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มโลหะ และกลุ่มเคมี มีมูลค่าส่งออกรวมทั้งสิ้น 107,387.0 ล้านบาท ในขณะที่มีมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 221,113.3 ล้านบาท โดยกลุ่มเซรามิก แก้วและกระจก เกินดุลการค้า 5,013.8 ล้านบาท และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เกินดุลการค้า 2,651.2 ล้านบาท ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เหลืออีก 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ขาดดุลการค้า 7,520.8 ล้านบาท กลุ่มโลหะ ขาดดุลการค้า 82,110.6 ล้านบาท และกลุ่มเคมี ขาดดุลการค้า 31,759.9 ล้านบาท
มูลค่าการส่งออกของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานทั้ง 5 กลุ่มดังกล่าว เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ กลุ่มเคมี มีมูลค่า 41,696.7 ล้านบาท ส่งออกไปประเทศจีน ฮ่องกง และเวียดนาม กลุ่มโลหะ มีมูลค่า 27,516.3 ล้านบาท ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย และจีน กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่า 23,007.0 ล้านบาท ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และเบลเยี่ยม กลุ่มเซรามิก แก้วและกระจก มีมูลค่า 12,333.8 ล้านบาท ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง มีมูลค่า 2,833.2 ล้านบาท ส่งออกไปประเทศเวียดนาม สหรัฐอเมริกา และบังคลาเทศ ส่วนมูลค่าการนำเข้าของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐาน 5 กลุ่มเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ กลุ่มโลหะ มีมูลค่า 109,626.9 ล้านบาท นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น รัสเซีย และออสเตรเลีย กลุ่มเคมี มีมูลค่า 73,456.6 ล้านบาท นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่า 30,527.8 ล้านบาท นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย อิสราเอล และฮ่องกง กลุ่มเซรามิก แก้วและกระจก มีมูลค่า 7,320.0 ล้านบาท นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น จีน และมาเลเซีย และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง มีมูลค่า 182.0 ล้านบาท นำเข้ามาจากประเทศจีน ไต้หวัน และอิตาลี
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานของไทยทั้ง 5 กลุ่ม พบว่า อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐาน (ร้อยละ 1.86) ต่ำกว่าอัตรการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐาน (ร้อยละ 27.84) เมื่อเปรียบเทียบก้บมูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ปี 2546) สำหรับการนำเข้านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และภาครัฐตั้งเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยมีอ้ตราการขยายตัวตลอดทั้งปีประมาณร้อยละ 8 ทำให้ภาครัฐออกมาตรการต่างๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจากมาตรการต่างๆ เป็นผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวมีการนำเข้าปัจจัยการผลิตและสินค้าบางประเภท (สินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานบางรายการ) เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับแนวโน้มมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานของไทยทั้ง 5 กลุ่มนั้น ด้านการส่งออกหากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และค่าขนส่งขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากมีแนวทางหรือมาตรการใดมาช่วยให้ผู้ประกอบการไทยช่วงชิงความได้เปรียบในการส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศได้และไม่มีปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการส่งออก สถานการณ์การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานในช่วงไตรมาสที่สองก็คงจะดีกว่าในช่วงไตรมาสแรก ส่วนด้านการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานนั้น หากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองมีทิศทางดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก กอปรกับหากผู้ประกอบการของไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานบางรายการเพื่อทดแทนการนำเข้าเพิ่มขึ้น มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานของไทยในช่วงไตรมาสที่สองก็คงใกล้เคียงกับไตรมาสแรก แต่หากราคาน้ำมันยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานบางรายการที่มีต้นทุนต่ำกว่าจากต่างประเทศก็จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ให้การส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนการนำเข้ามาโดยตลอดและจะดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป
ผู้สนใจต้องการข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 0-2202-3672-3 โทรสาร 0-2202-3606--จบ--
--อินโฟเควสท์ (พห)--