กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--ทน.
กำลังคนด้านอุตสาหกรรมขาดแคลน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จับมือ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)โดย วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ลงนามความร่วมมือ “โครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated Learning: WiL) เพื่อพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรม” เน้นสร้างกำลังคนระดับ ปวส. ให้มีความรู้ ทักษะตรงความต้องการของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ สร้างช่างเทคนิคและนักเทคโนโลยีเฉพาะด้าน ย่นระยะเวลา ลดค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม พร้อมทำงานทันที
25 มิถุนายน 2555 : ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการกำลังคนทางเทคนิคที่มีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของบริษัทมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิต ส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องใช้กำลังคนทางเทคนิคที่มีทักษะความรู้และความชำนาญการเฉพาะในแต่ละสาขาช่างเป็นผู้ควบคุมดูแลในทุกขั้นตอนการผลิต ดังนั้น บริษัทเอกชนเหล่านี้ จึงได้มีแนวคิดที่จะผลิตกำลังคนทางเทคนิคในระดับ ปวส. ด้วยวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับการทำงาน (WiL) ซึ่งกำหนดให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมาทำงานกับบริษัท เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทักษะการปฏิบัติงานจริง และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว มีโอกาสจะได้ร่วมงานกับบริษัท โดยที่นักเรียนกลุ่มนี้จะได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส.
“กำลังคนระดับช่างเทคนิคและนักเทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษายังไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่จึงมีความรู้และทักษะไม่ตรงกับความต้องการของแต่ละภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของผู้สำเร็จการศึกษายังไม่มีความชัดเจนทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรผู้มีความสามารถในสาขาวิชาชีพเฉพาะทางอย่างรุนแรง
การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated learning: WiL) โดยความร่วมมือเชิงลึกระหว่างผู้ประกอบการและสถานศึกษา เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างเส้นทางอาชีพสำหรับบุคลากรในกลุ่มนี้ ตลอดจนช่วยยกระดับการศึกษาในสายอาชีวศึกษาของไทยให้มีคุณภาพดีขึ้นด้วย และเพื่อผลักดันให้นโยบายดังกล่าวข้างต้นเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน.) บริษัท สยามมิชลิน จำกัด วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (วท.สัตหีบ) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จึงได้ร่วมกันจัดให้มีโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated Learning: Wil) เพื่อพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรม โดยคาดหวังจะผลิตช่างเทคนิคและนักเทคโนโลยีจำนวน 200 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี และคาดหวังให้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการขยายผลการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ในวงกว้างต่อไป ” เลขาธิการ สวทน. กล่าว
สวทน. ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ให้มีคุณภาพตามความต้องการของภาคการผลิตและบริการ เป็นนโยบายสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2546) โดย บทบาทของ สวทน. ในการดำเนินงานครั้งนี้จะเน้นดำเนินการด้านนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคนระดับช่างเทคนิคและนักเทคโนโลยีให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสนับสนุนและประสานงานให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา รวมทั้งศึกษาและวิจัยเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการจัดทำนโยบายขยายผลโครงการต่อไป
ด้านคุณเสกสรรค์ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสยามมิชลิน บริษัท สยามมิชลิน จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันทางบริษัทมียอด Turn Over ของช่างเทคนิคประมาณ 10% ต่อปี ทำให้บริษัทต้องทำการฝึกอบรมช่างเทคนิคใหม่ที่จบการศึกษาในระดับ ปวส.นานถึง 2 ปีต่อคน จึงจะได้ช่างเทคนิคที่มีความสามารถเฉพาะด้านตรงตามความต้องการของบริษัท ซึ่งใช้ระยะเวลานาน และทำให้มีต้นทุนในการฝึกอบรมแต่ละปีค่อนข้างสูง ดังนั้นความร่วมมือกันในครั้งนี้จึงน่าจะเป็นการช่วยพัฒนากำลังคนได้ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สามารถลดระยะเวลาในการฝึกอบรมบุคลากรของหน่วยงานได้ ทั้งยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้มากยิ่งขึ้นด้วย
สอบถามข้อมูล :
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
โทรศัพท์ 02 160 5432 ต่อ 208 (พิสิษฐ์พล)