กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--มาร์เก็ตติ้ง อินทิเกรชั่น
บริษัทผู้ผลิตพรมแผ่นรายใหญ่ที่สุดของโลก ร่วมกับองค์กรการกุศลเพื่อการอนุรักษ์ ดำเนินโครงการเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากเครืองมือประมงประเภทแห อวน เอ็นตกปลา ลอบปู ฯลฯ ที่ทำจากไนลอนที่ถูกทิ้งไว้ในทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุในการพรากชีวิตสัตว์น้ำ สัตว์เลียงลูกด้วยนม และนกทะเล แล้วนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งโครงการนี้ได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมและมีรายได้เสริมอีกด้วย
เครื่องมือประมงในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ ประเภทป่าน ปอ มาเป็นไนลอนที่คงทนกว่า และเมื่อถูกทิ้งไว้ในทะเล ก็จะคงอยู่ในธรรมชาติอีกหลายร้อยปี ซึ่งในระหว่างนี้ ก็จะคร่าชีวิตสัตว์ทะเล เช่นปู ปลา เต่า พะยูน โลมา วาฬ ไปจนถึงนกทะเล โดยการบาดหรือพันธนาการร่างกาย จนสัตว์เหล่านี้บาดเจ็บ หากินไม่ได้ หรือจมน้ำตายจำนวนมาก อินเตอร์เฟซ จึงได้ร่วมกับสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London) ดำเนินโครงการนำร่องที่ชายฝั่งดานาจอนของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นแนวประการังเสื่อมโทรม อันมีสาเหตุหลักจากขยะในทะเล
ไนลอนส่วนใหญ่ที่ใช้ในการประมง เป็นไนลอนชนิดเดียวกับที่ใช้ในการผลิตเส้นใยของพรม และที่ชายฝั่งดานาจอนแห่งนี้ มีเครื่องมือจับสัตว์น้ำไนลอนนี้ทิ้งเป็นขยะอยู่เป็นจำนวนมาก โดยคำนวณว่าในแต่ละปี มีแหอวนถูกทิ้งไว้เป็นความยาวกว่า 400 เท่าของความยาวชายฝั่งแห่งนี้ เป็นเหตุให้แนวประการังที่เคยสมบูรณ์กลับเสื่อมโทรม จนชาวประมงขาดรายได้และหันไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อความอยู่รอด
โครงการนำร่องทีชายฝั่งดานาจอนนี้ ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเก็บกู้เครื่องมือประมงไนลอนที่ถูกทิ้งไว้ในทะเล และชายหาด รวบรวม จัดเตรียม และส่งให้โรงงานนำไปแปรสภาพเป็นวัตถุดิบ เพื่อแลกกับรายได้ที่จะนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
มร.ไนเจล สแตนสฟิลด์ ซีอีโอด้านนวัตกรรมของอินเตอร์เฟซ กล่าวว่า “เรามีพันธกิจ ‘มิชชั่นซีโร่’ ที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้หมดไปภายในปีคศ. 2020 การเลือกใช้เฉพาะวัตถุดิบรีไซเคิลก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ การร่วมมือกับสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน และผู้เชียวชาญทางทะเลอื่นๆ ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะลดขยะในสภาพแวดล้อม และนำมาผ่านกระบวนการให้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ประโยชน์อีกประการหนึ่งที่เราได้รับจากโครงการนำร่องนี้คือการสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ยากจน ซึ่งเราหวังว่ากิจกรรมนี้ของเราจะเป็นตัวอย่างให้องค์กรอื่นๆ เห็นว่าความร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และดีต่อธุรกิจด้วย
สำหรับประเทศไทย ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาต่อเนื่องที่ยังรอการแก้ไข ทั้งชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย และอันดามัน ในแต่ละปี ไทยสูญเสียสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทวาฬ โลมา และเต่าทะเลจำนวนมาก สัตว์เหล่านี้หายใจด้วยปอด และเมื่อแหอวนพันร่างกายและรั้งให้อยู่ในน้ำนานเกินไป สัตว์ประเภทนี้ก็จะตายเพราะการจมน้ำ นอกจากนี้เศษแหอวนที่ปกคลุมแนวปะการัง ทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในตัวปะการัง ไม่สามารถสังเคราะห์แสงให้ออกซิเจนและธาตุอาหารแก่ปะการังได้ จึงทำให้ปะการังตายจากการขาดอาหารอีกด้วย
นพ.นิค ฮิลล์ จากสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน กล่าวว่า “เราตระหนักดีว่าการดำเนินโครงการนี้มีเรื่องท้าทายรอเราอยู่อีกมาก แต่เราก็หวังว่าความพยายามของเราจะแสดงให้เห็นประโยชน์ที่เกิดจากการร่วมมือกันของผู้เชียวชาญในภาคธุรกิจและการอนุรักษ์ และรูปแบบทางธุรกิจที่ยั่งยื่นนี้ จะได้รับการสานต่อในชายฝั่งอื่นๆ ต่อไป”
เกี่ยวกับ อินเตอร์เฟซ อิงค์
อินเตอร์เฟซ อิงค์ (NASDAQ: IFSIA) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2516 ปัจจุบันเป็นผู้นำระดับโลกด้านการออกแบบ ผลิต และจำหน่ายพรมแผ่นด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทผลิตสินค้าให้แก่สำนักงาน สถานที่สาธารณะ และองค์กรต่างๆ ภายใต้แบรนด์ Interface? และผลิตสินค้าสำหรับที่พักอาศัยภายใต้แบรนด์ FLORTM นอกจากนั้นยังเป็นผู้นำด้านการออกแบบและผลิตขนห่วงภายใต้แบรนด์ Bentley Prince Street? อีกด้วย
อินเตอร์เฟซ อิงค์มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา มีโรงงานผลิตในสี่ทวีป จัดจำหน่ายไปยัง 110ประเทศทั่วโลก โดยในประเทศไทยมีบริษัท อินเตอร์เฟซฟลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากลสำหรับอาคารที่ออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (LEED Accredited) แห่งแรกของประเทศไทย และเมื่อเดือนเมษายน 2555 นี้เอง ชื่ออินเตอร์เฟซฟลอร์ได้เปลี่ยนเป็น อินเตอร์เฟซ และบริษัทได้เปิดตัวโลโก้ใหม่พร้อมกันทั่วโลกด้วย
บริษัทบริหารงานโดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตั้งเป้าหมายเป็นบริษัทอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลกที่อุทิศตนแก่การพัฒนาแบบยั่งยืน ด้วยการกำหนดภารกิจมิชชั่น ซีโร่ (Mission Zero) เพื่อมุ่งมั่นขจัดของเสียให้เป็นศูนย์และลดผลกระทบอันเนื่องมาจากการผลิตที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมให้หมดไปภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563)