371 บจ.ทำคะแนนด้านบรรษัทภิบาลรวมเฉลี่ยดีขึ้นเกือบเท่ากับร้อยละ 70

ข่าวทั่วไป Thursday November 3, 2005 14:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ผลสำรวจบรรษัทภิบาลยืนยันบริษัทจดทะเบียนไทยมีบรรษัทภิบาลดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ซึ่งผลการประเมินดีขึ้นมาก
วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2548) คณะอนุกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์การดำเนินการเกี่ยวกับ Corporate Governance ในประเทศไทย ภายใต้คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors Association- IOD) ได้จัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนตามรายงาน Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2005 ที่ IOD ได้จัดทำขึ้น โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ทนง พิทยะ ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน และผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนกว่า 400 คน
นายวิจิตร สุพินิจ ประธานคณะอนุกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ฯ กล่าวว่า “การประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ใช้หลักเกณฑ์ที่ได้มีการปรับปรุงให้ครบถ้วนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าแม้จะใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นผลประเมินบริษัทจดทะเบียนไทยโดยรวมก็ยังดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา”
บริษัทจดทะเบียน 371 แห่งที่ได้รับการประเมินในปี 2548 มีคะแนนรวมเฉลี่ย 69 คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 60 คะแนนหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากการประเมินครั้งล่าสุด โดยบริษัทที่ติดกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุด (Top Quartile Companies) ยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมหลัก 3 กลุ่มได้แก่ 1) กลุ่มทรัพยากร มีบริษัทที่ทำคะแนนได้ดีคิดเป็นร้อยละ 77 ของกลุ่ม 2) กลุ่มเทคโนโลยี มีบริษัทที่ทำคะแนนได้ดีคิดเป็นร้อยละ 42 ของกลุ่ม และ 3) กลุ่มการเงิน มีบริษัทที่ทำคะแนนได้ดีคิดเป็นร้อยละ 35 ของกลุ่ม
โดยกิจการที่มีบรรษัทภิบาลดีเด่นมิได้กระจุกตัวอยู่เพียงกิจการขนาดใหญ่เท่านั้น เนื่องจากในกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุดมีสัดส่วนกิจการที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ใกล้เคียงกันกับจำนวนกิจการที่มีรายได้ 10,000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป
นายชาญชัย จารุวัสตร์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำรายงานผลสำรวจบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยว่า “ผลการประเมินโดยภาพรวมในปีนี้ของบริษัทจดทะเบียนไทยดีขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านดูแลสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้คะแนนมากกว่าผลการประเมินปี 2546 ถึงร้อยละ 60 และได้คะแนนด้านการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 ส่วนด้านที่มีผลการประเมินดีขึ้น แต่คะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับไม่สูงนักคือความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินโดยธนาคารโลกที่มีต่อประเทศไทยในประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยต้องมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการให้มากขึ้น”
เอกสารแนบข่าว
ผลสำรวจบรรษัทภิบาลบริษัทจดทะเบียน ปี 2548
Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2005
รายงานผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนฉบับนี้ นำเสนอผลการประเมินปีล่าสุดที่ IOD ได้สำรวจข้อมูลบริษัทจดทะเบียน 371 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยหลักเกณฑ์ในการประเมินครอบคลุมประเด็นด้านบรรษัทภิบาล 118 ข้อใน 5 หมวดตามหลักการกำกับดูแลกิจการของกลุ่มประเทศ OECD (OECD Principles of Corporate Governance) ได้แก่
สิทธิของผู้ถือหุ้น (Shareholders Rights)
การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อผู้ถือหุ้น (Equitable Treatment of Shareholders)
การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย (Role of Stakeholders)
การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส (Disclosure and Transparency)
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ (Board Responsibilities)
ทั้งนี้ การประเมินการกำกับดูแลกิจการตามรายงานนี้ ใช้ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ อันเป็นแหล่งข้อมูลที่ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนโดยทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้ ทำให้รายงานนี้เป็นรายงานที่สะท้อนมุมมองของผู้ลงทุนและบุคคลทั่วไปจะมีต่อมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน โดยแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการประเมินได้แก่
รายงานประจำปีของบริษัท
แบบ 56 — 1
หนังสือนัดประชุมและรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น
เว็บไซต์ของบริษัท
ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่าน ตลาดหลักทรัพย์ ฯ และ กลต.
ข้อมูลอื่นๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณชน
ผลการประเมินภาพรวมในปี 2548
โดยภาพรวม บริษัทจดทะเบียนไทยมีพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น ประเด็นที่มีการพัฒนาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย และการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส โดยในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสนี้ บริษัทไทยมีผลการประเมินอยู่ในระดับค่อนข้างสูง รองลงมาได้แก่ การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อผู้ถือหุ้น และการให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้น ตามลำดับ ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องมีการพัฒนาต่อไปถึงแม้จะมีคะแนนเฉลี่ยในระดับที่สูงขึ้น คือ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียที่ยังคงมีช่วงห่างของบริษัทจดทะเบียนที่ได้คะแนนสูงสุดและต่ำสุดค่อนข้างมาก ทำให้คะแนนเฉลี่ยของทั้งสองหมวดยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ผลการประเมินตามกลุ่มอุตสาหกรรม
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบริษัทในกลุ่มติดอันดับกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุด (Top Quartile Companies) ในสัดส่วนมากที่สุด ยังคงเป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มการเงิน เช่นเดียวกับผลการประเมินในปีที่ผ่านมา โดยมีบริษัทที่มีผลการประเมินอยู่ใน Top Quartile ถึงร้อยละ 77, 42, และ 35 ของบริษัทในแต่ละกลุ่มตามลำดับ
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาตามขนาดรายได้ พบว่า บริษัทที่มีผลการประเมินดีไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ดังจะเห็นได้ว่าใน 93 บริษัทใน Top Quartile มีบริษัทที่มีขนาดรายได้ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ในจำนวนใกล้เคียงกับบริษัทที่มีรายได้ตั้งแต่ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป
จุดเด่นของบริษัทไทย
โดยรวมแล้วบริษัทไทย มีการปฏิบัติหลายเรื่องที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งบางประเด็นยังเป็นปัญหาแม้ในประเทศที่พัฒนามาก่อนประเทศไทย ทั้งนี้ จุดเด่นที่บริษัทไทยส่วนใหญ่มีการปฏิบัติเป็นอย่างดีแล้วได้แก่
บริษัทเกือบทั้งหมด มีการพิจารณาเรื่องต่างๆ ในการประชุมผู้ถือหุ้นตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้ โดยไม่มีการเพิ่มวาระอื่นๆ เพิ่มเติมในที่ประชุม
บริษัทร้อยละ 88 แยกตำแหน่งระหว่างประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทร้อยละ 87 เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้น และบันทึกคำถาม-คำตอบไว้ในรายงานการประชุม
บริษัทร้อยละ 84 มีการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบภายในโดยให้รายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
ประเด็นที่ควรปรับปรุง
ประเด็นที่จะช่วยให้บริษัทไทยมีผลการประเมินโดยรวมที่ดีขึ้น หากสามารถปรับปรุงได้ ได้แก่
การเสนอรายชื่อกรรมการให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาเลือกตั้งเป็นรายบุคคล
การจัดส่งหนังสือเชิญประชุมให้ผู้หุ้นล่วงหน้าก่อนการประชุมอย่างน้อย 21 วัน
การเปิดเผยนโยบายเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้เสียให้ชัดเจน
การแต่งตั้งกรรมการอิสระในสัดส่วนที่สูงขึ้นในคณะกรรมการ
ทั้งนี้ โดยมีหลายประเด็นที่บริษัทสามารถพิจารณาปรับปรุงได้โดยไม่ยากนัก ในขณะที่บางประเด็นอาจต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่างๆ
ก้าวต่อไปในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดี
จากผลการศึกษาตามรายงานนี้ แสดงให้เห็นว่า ผลจากความพยายามในการผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้บริษัทจดทะเบียนของไทยตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลที่ดี และได้มีการปฏิบัติได้เทียบเท่ามาตรฐานสากลไปแล้วในหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการกำกับดูแลกิจการ เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่จะต้องทำต่อไป โดยควรมุ่งเน้นในประเด็นที่บริษัทจดทะเบียนไทยจำนวนหนึ่งยังมีผลการประเมินในระดับต่ำ เช่น การคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งถึงแม้จะมีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติได้ดี แต่ยังคงมีบริษัทจำนวนหนึ่งที่ละเลยในประเด็นเหล่านี้ ทำให้ผลการประเมินโดยรวมของบริษัทไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหากสามารถมุ่งสร้างความเข้าใจ และกระตุ้นให้บริษัทเหล่านี้พยายามปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการของตนเองให้ดีขึ้น ก็จะช่วยให้บริษัทจดทะเบียนของไทยโดยรวมได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ :
พรกนก วิภูษณวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส — วิจัยและนโยบาย
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
โทรศัพท์ 0 2264 0870 โทรสาร 0 2264 0871-2--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ