ก.ล.ต. กำหนดลักษณะผู้ลงทุนประเภท Accredited Investors และให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 26, 2012 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--ก.ล.ต. นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นชอบให้มีการกำหนดลักษณะผู้ลงทุนประเภท Accredited Investors (AI) รวมทั้งอนุญาตให้มีการเสนอขายสินค้าต่อไปนี้ต่อผู้ลงทุนดังกล่าว (1) ตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bonds)และ (2) กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ซึ่งสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือมีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade ได้โดยไม่จำกัดอัตราส่วนการลงทุนทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ต้องการระดมทุนมีโอกาสและทางเลือกในการออกตราสารหลากหลายมากขึ้น และขณะเดียวกันผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ก็มีทางเลือกการลงทุนมากขึ้นด้วยโดยยังคงได้รับความคุ้มครองในระดับที่เหมาะสม สำหรับ AI ประกอบด้วยผู้ลงทุน 2 ประเภท ได้แก่ (1) ผู้ลงทุนสถาบัน* เช่น ธนาคารพาณิชย์ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น และ (2) ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (High Net Worth)โดยกรณีเป็นบุคคลธรรมดาต้องมีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สามารถพิจารณารวมกับคู่สมรสได้ส่วนกรณีเป็นนิติบุคคลต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจาก AI จัดว่าเป็นผู้ลงทุนที่มีศักยภาพในการลงทุนและการรับความเสี่ยงได้ (Sophisticated)ก.ล.ต. จึงอนุญาตให้ผู้ออกและผู้ขายตราสารทางการเงินสามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนหรือมีความเสี่ยงสูงให้แก่ AI ได้ อย่างไรก็ดี สามารถเสนอขายตราสารบางประเภทที่ AIลงทุนได้ให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อยได้ด้วย โดย ก.ล.ต. จะกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำครั้งแรกให้เหมาะสมกับความซับซ้อนและความเสี่ยงของตราสารดังกล่าว ในระยะแรก ก.ล.ต. จะอนุญาตให้เสนอขาย “ตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” (Unrated Bond) ให้แก่ AI ได้ โดยต้องระบุคำเตือนในเอกสารการขาย (Fact Sheet) ด้วยว่า ตราสารหนี้ดังกล่าวเสนอขายเฉพาะแก่ AI เท่านั้น รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทจัดการลงทุนสามารถจัดตั้ง “กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ที่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade โดยไม่จำกัดอัตราส่วน” โดยกองทุนดังกล่าวต้องมีการกระจายการลงทุนในผู้ออกตราสารรายใดรายหนึ่ง (Company Limit) ไม่เกินร้อยละ 25 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและหากบริษัทจัดการลงทุนประสงค์ที่จะเสนอขายกองทุนดังกล่าวต่อผู้ลงทุนรายย่อย จะต้องกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท รวมทั้งต้องกระจายการลงทุนในผู้ออกตราสารรายใดรายหนึ่ง (Company Limit) เช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป (ไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ กรณีผู้ออกเป็นนิติบุคคลที่มิใช่สถาบันการเงิน และไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกรณีผู้ออกเป็นสถาบันการเงิน)รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลคำเตือนความเสี่ยงเพิ่มเติมด้วย ในส่วนของการเสนอขายตราสารนั้น ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ขายต้องมีกระบวนการปฏิบัติงานก่อนการขายหรือให้บริการผู้ลงทุนที่ทำให้มั่นใจว่า ผู้ลงทุนมีคุณสมบัติเป็น AI ตามที่ประกาศกำหนด มีความรู้ความเข้าใจสินค้าที่จะลงทุน และได้รับข้อมูลที่จำเป็นก่อนตัดสินใจลงทุน รวมทั้งต้องจัดทำกระบวนการทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer /Client Due Diligent) และให้ผู้ลงทุนทำแบบทดสอบความสามารถในการรับความเสี่ยง (Suitability Test) นอกจากนี้ ผู้ขายต้องแจ้งเตือนความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจได้รับข้อมูล น้อยกว่ากรณีการเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป การทำ Suitability Test จะได้รับยกเว้นในกรณี (1) เป็นผู้ลงทุนสถาบัน (2) เป็นผู้ลงทุน High Net Worth นิติบุคคลที่ปฏิเสธการทำ Suitability และผู้ขายมีความมั่นใจว่า ผู้ลงทุนรายดังกล่าวมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีในสินค้าที่จะลงทุน และ (3) กองทุนที่บริหารจัดการ โดยบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตกองทุนรวมส่วนบุคคลหรือกองทุนรวม (บลจ.) *หมายเหตุ ผู้ลงทุนสถาบันได้แก่ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย (2) ธนาคารพาณิชย์/ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น (3) บริษัทเงินทุน/บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ /บริษัทหลักทรัพย์ (4) บริษัทประกันวินาศภัย/บริษัทประกันชีวิต (5) กองทุนรวม (6) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (7) กองทุนส่วนบุคคลซึ่งบุคคล/ กลุ่มบุคคล/ นิติบุคคลที่มอบหมายการจัดการกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าวทุกคน/ ทุกนิติบุคคล เป็นผู้ลงทุนสถาบัน หรือมีฐานะทางการเงินเป็นไปตามเกณฑ์ของผู้ลงทุน High Net Worth (8) องค์กรหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งที่มีวัตถุประสงค์หลักในการบริหารจัดการลงทุน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม เป็นต้น (9) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า/ผู้ประกอบธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (10) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (11) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (12) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (13) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (14) นิติบุคคลประเภทบรรษัท (15) นิติบุคคลที่บุคคลตาม (1) — (14) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด (16) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับบุคคลตาม (1) — (15) โดยอนุโลม (17) บุคคลธรรมดาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้จัดการกองทุน/ผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (18) ผู้ลงทุนอื่นตามที่ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ