เตือนภัยการระบาดหอยเชอรี่

ข่าวทั่วไป Tuesday June 26, 2012 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เตือนภัยการระบาดหอยเชอรี่ ที่มักจะพบการระบาดในนาข้าวตั้งแต่ระยะกล้า ปักดำ และระยะแตกกอ ล่าสุดได้รับรายงานการระบาดในพื้นที่อำเภอกันทรวิชัยแล้ว กว่า ๒,๐๐๐ ไร่ ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เกษตรกรทำนาไปแล้ว กว่า ๘ แสนไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ ๓๘ ของพื้นที่นาทั้งจังหวัด ๒.๓ ล้านไร่ ปริมาณน้ำในท้องนาหลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ทำให้มีศัตรูข้าวบางชนิดเมื่อได้น้ำฝน ก็จะออกมาผสมขยายพันธุ์แพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นสัตว์ศัตรูข้าวที่สำคัญมากล่าสุดพบการระบาดในพื้นที่อำเภอกันทรวิชัยแล้ว กว่า ๒,๐๐๐ ไร่ อยู่ในระดับที่รุนแรง ๖๐๐ ไร่ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม จึงขอเตือนให้ชาวนาได้เฝ้าระวัง การแพร่ระบาดของหอยเชอรี่ในขณะนี้ด้วย ทั้งนี้หอยเชอรี่มีลักษณะเหมือนหอยโข่ง แต่ตัวโตกว่ามีเปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อและหนวดมีสีน้ำตาลอ่อน หอยเชอรี่เจริญเติบโต และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ลูกหอยอายุเพียง 2- 3 เดือน จะจับคู่ผสมพันธุ์ได้ตลอดเวลา หลังผสมพันธุ์ได้ 1- 2 วัน ตัวเมียจะวางไข่เวลากลางคืน โดยวางไข่ตามกิ่งไม้ ต้นหญ้าริมน้ำ ต้นข้าว ไข่สีชมพูเกาะติดกันเป็นกลุ่มยาว 2-3 นิ้ว ไข่จะฟักออกเป็นตัวหอยภายในเวลา 7-12 วัน เกษตรกรจะสังเกตุการเข้าทำลายต้นข้าว ในระยะกล้าและที่ปักดำใหม่ๆ ไปจนถึงระยะแตกกอ โดยเริ่มจากส่วนโคนต้นข้าวที่อยู่ใต้น้ำ จากพื้นดินประมาณ 1-1.5 นิ้ว จากนั้นจะกินส่วนใบที่ลอยน้ำจนหมดทั้งต้นทั้งใบ ใช้เวลาเพียง 1-2 นาที เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่า การกำจัดหอยเชอรี่ด้วยวิธีธรรมชาติ เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงนา และเก็บตัวหอยเชอรี่ ซึ่งสามารถนำมาบดเป็นอาหารเป็ด หรือเก็บตัวหอยเชอรี่มาผสมกากน้ำตาล และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมักไว้ฉีดต้นข้าวเป็นการให้อาหารต้นข้าวทางใบ โดยการเก็บหอยเชอรี่สามารถนำพืชที่มียาง เช่น มะละกอ ละหุ่ง และยางอินเดีย นำไปสุมไว้ในนาเพื่อให้หอยเชอร์รี่มารุมกิน เนื่องจากหอยเชอรี่ชอบพืชที่มียาง จากนั้นก็สามารถเก็บตัวหอยเชอรี่ได้ง่าย นอกจากนี้ควรเก็บไข่ของหอยเชอรี่ ที่มีลักษณะเป็นกลุ่มสีชมพูเข้มอมแดง นำไปแช่ในน้ำเค็มเพื่อทำให้ไข่ฝ่อ และการป้องกันที่ดีที่สุดคือในการสูบน้ำเข้านาเกษตรกรควรใช้ตาข่ายตาถี่กรอง น้ำเพื่อป้องกันหอยเชอรี่เข้าไปอาศัยในนาข้าว หรือใช้เปลือกทุเรียน หรือเปลือกขนุนวางไว้ในจุดที่ปล่อยน้ำเข้าใน เพราะผลไม้ ทั้งสองชนิดมีกลิ่นที่หอยเชอรี่ไม่ชอบ ก็สามารถป้องกันหอยเชอรี่เข้าแปลงนา เกษตรกรที่มีปัญหาด้านการเกษตรติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตร โดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔
แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ