กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
เพราะนมสด คุณภาพไม่เหมือนกัน ปัญหาคุณภาพน้ำนมโคสดของไทยถือเเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยพัฒนาคุณภาพอย่างจริงจังก่อนจะสายเกินไป ดัชมิลล์ พร้อมด้วย 7 หน่วยงานหลัก ประกาศในงาน “มิลค์ฟอรัม” เดินหน้าร่วมมือพัฒนาคุณภาพน้ำนมโคสดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อปกป้องธุรกิจฟาร์มโคนมและผลักดันอุตสาหกรรมน้ำนมโคสดของไทยให้แข่งขันได้ใน AEC รวมทั้งให้คนไทยได้ดื่มนมสดคุณภาพสูงอย่างพอเพียงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
งานเสวนา “Milk Forum แนวทางการจัดการและพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบเพื่อพร้อมก้าวเข้าสู่ AEC” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชมรมนมสร้างชาติ ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย กรมปศุสัตว์ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมให้ความเห็นในการส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกรด้านการจัดการฟาร์มโคนมที่มีประสิทธิภาพ กำหนดมาตรฐานการรับซื้อน้ำนมโคสดเพื่อยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมนมโคสดของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานนมในตลาดโลก
นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยชี้ว่า การที่ไทยจะก้าวเข้าสู่ AEC รวมทั้งการเจรจาข้อตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศจีน จะเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์นมคุณภาพดี และนมราคาต่ำทะลักเข้ามาตีตลาดอย่างเสรี อุตสาหกรรมนมของไทยที่มีมูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท จะต้องพบกับความท้าทายอย่างรุนแรงในการแข่งขันด้านราคาแม้จะมีทางเลือกในการหาวัตถุดิบมากขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคกว่า 20,000 รายทั่วประเทศไทย ถ้าไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ก็จะสู้กับนมนอกไม่ได้จนอาจต้องเลิกเลี้ยงโคนมไปในที่สุด
นายวรเทพ รางชัยกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท แดรี่พลัส จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมภายใต้แบรนด์ดัชมิลล์ เปิดเผยว่า “เหลือเวลาอีกเพียง 3 ปีที่เราจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การพัฒนาคุณภาพน้ำนมโคสดถือว่าเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเริ่มดำเนินการทันที ใน 2 ประเด็น คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภค และให้ความรู้แก่เกษตรกรสนับสนุนการเลี้ยงโคนมคุณภาพครบวงจรที่มีการพัฒนาและตรวจสอบระดับสากล
ในส่วนผู้บริโภคควรมีความเข้าใจว่านมสดที่เราดื่มมีคุณภาพไม่เหมือนกัน นมสดพาสเจอร์ไรส์ที่มีการคัดสรรอย่างดี มีคุณภาพเท่านั้น จะให้คุณค่าสารอาหารธรรมชาติครบมากที่สุด แต่เราก็มีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ (ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย) สูงกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น และควรมีส่วนช่วยสกัดกั้นน้ำนมสดที่ด้อยคุณภาพ ด้วยการเป็นคนฉลาดซื้อ เลือกแต่นมโคสดที่ผ่านการคัดสรรคุณภาพเท่านั้น”
ดร. ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า “อย. ให้ความสำคัญในการตรวจสอบคุณภาพนมตั้งแต่ก่อนเข้ากระบวนการแปรรูปจนถึงการจัดจำหน่ายถึงผู้บริโภคเรามีมาตรฐาน “บังคับ” ที่เข้มงวด เช่น มาตรฐาน GMP อยู่แล้ว แต่ “ช่องว่าง” ที่สำคัญ เกิดขึ้นในช่วงต้นน้ำของกระบวนการผลิตน้ำนมจากในฟาร์มและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ที่ยังเป็นการใช้มาตรฐานคุณภาพแบบ “สมัครใจ” ทำให้มีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ค่อนข้างมากในน้ำนมดิบซึ่งทำให้คุณค่าทางอาหารในนมโคสดด้อยคุณภาพลง ก่อนที่น้ำนมจะถูกขนส่งไปยังโรงงานแปรรูปเสียอีก เราจะเข้ามาดูแลการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์นม เพื่อลดปริมาณจุลินทรีย์ในน้ำนมดิบให้ได้มากที่สุดตลอดห่วงโซ่การผลิต ครอบคลุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ คน และระบบ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ดื่มนมสดที่มีคุณภาพและปลอดภัย ได้ประโยชน์ครบถ้วนต่อสุขภาพ”
นายสินชัย เรืองไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญการส่งเสริมโคนม กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า “การควบคุมมาตรฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยการให้แรงจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบต่อไป เช่น ถ้าน้ำนมดิบมีปริมาณจุลินทรีย์น้อยตรวจพบ somatic cell หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวในปริมาณต่ำซึ่งแสดงว่านมคุณภาพดีแม่วัวสุขภาพดี เกษตรกรควรได้ราคาที่สูงกว่าเกณฑ์พอสมควร นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังส่งเสริมให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมมีการจดทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ซึ่งจะช่วยให้เราควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นายพรชัย สวัสดิ์สุขสบชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด กล่าวว่า “การให้ความรู้แก่เกษตรกรเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพน้ำนมโคสดแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการกดราคาน้ำนมดิบ และรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมด้วย ดัชมิลล์ได้เป็นแกนหลักจัดทำ โครงการความร่วมมือไตรภาคีเพิ่มศักยภาพการผลิตน้ำนมดิบ เป็นความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่างผู้ผลิต เกษตกร และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เน้นการให้ความรู้เรื่องสุขลักษณะและประสิทธิภาพการจัดการฟาร์มเพื่อลดต้นทุนและลดการปนเปื้อน ที่สำคัญช่วยให้วัวนมมีสุขภาพดีเพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบคุณภาพสูงให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้วที่จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรีและราชบุรี
“โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะสร้างต้นแบบในการเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบ โดยการลดปริมาณการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นประโยช์นต่อร่างกาย ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ และให้ได้น้ำนมดิบมีคุณภาพสูงเทียบเท่ามาตรฐานประเทศระดับนานาชาติ ทุกวันนี้น้ำนมโคสดจำนวนมากจากฟาร์มทั่วประเทศมีจุลินทรีย์เกินค่ามาตรฐาน 500,000 โคโลนีต่อลูกบาศก์เซนติเมตร และยังห่างไกลจากมาตรฐานน้ำนมโคสดของนิวซีแลนด์ที่ตั้งไว้เพียง 300,000 หรือยุโรปและอเมริกาที่ตั้งไว้ 100,000 โคโลนีต่อลูกบาศก์เซนติเมตร
“หลังจากที่เราเริ่มทำโครงการนี้มา ทำให้เรามีปริมาณน้ำนมโคสดคุณภาพเหนือเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ ดัชมิลล์ ซีเล็คเต็ด สามารถเปิดตลาดนมสดคุณภาพสูงสู่ผู้บริโภคเป็นผลสำเร็จ เราได้เกษตรกรรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดกลางที่มีโครีดนมกว่า 50 ตัว มีกำไรเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 30,000-40,000 บาท นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงมาตรฐานศูนย์รวบรวมนม 12 เขตทั่วประเทศเพื่อยกระดับการคัดกรองน้ำนมดิบที่เหนือกว่าโดยได้รับมาตรฐาน GMP และ Food Safety ISO 22000:2005” นายพรชัยกล่าว
ดัชมิลล์ยังได้บอกในวงเสวนาถึงการสนับสนุนความร่วมมือทวิภาคีทางการศึกษาและพัฒนาบุคลากรทางด้านโคนมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ที่จะขยายต่อไปยังจังหวัดเพชรบุรีและลพบุรี โดยได้สร้างหลักสูตรให้กับนักศึกษาให้มีทักษะการถ่ายทอดความรู้ ให้แก่เกษตรกรและศูนย์รวบรวมนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมงานทางด้านโคนมทั้งหมด ได้แก่
1. หลักสูตรการจัดการฟาร์มโคนม (Farm Management)
2. หลักสูตรการส่งเสริมการเกษตร (Extension Man)
3. หลักสูตรการจัดการศูนย์รวบรวมนม (Milk Collection Center Management)
นายวรเทพ กล่าวสรุปว่า “ งานสัมนา Milk Forum แนวทางการจัดการและพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบเพื่อพร้อมก้าวเข้าสู่ AEC” จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะนำอุตสาหกรรมนมไทยให้ก้าวหน้าเท่าเทียบประเทศอื่นๆ เราต้องมีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาคุณภาพนมสด ต้องส่งเสริมการบริโภคและให้ความรู้แก่ประชาชนว่านมสดยี่ห้อต่างๆ คุณภาพไม่เหมือนกัน นมโคสดพาสเจอร์ไรส์ที่ผ่านกระบวนการคัดสรรกลั่นกรองคุณภาพน้ำนมดิบอย่างเข้มงวดด้วยมาตรฐานระดับนานาชาติเท่านั้น จะให้สารอาหารธรรมชาติสูงกว่านมทั่วไป เพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมนมของประเทศ เราจึงต้องให้ความรู้และให้ผู้บริโภคสร้างอุปสงค์ ในการเลือกนมโคสดที่มีคุณภาพสูงเท่านั้น เพื่อยกระดับคุณภาพนม เกษตรกรและทุกคนที่เกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์จากการยกระดับคุณภาพนมเพื่อพร้อมแข่งขันกับนมจากต่างประเทศ”
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ: บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด
จินตนา ดงแก้ว(jintana.duangkaew@ogilvy.com)
กมลทิพย์ ตั้งเทียนทอง (kamolthip.tangtheintong@ogilvy.com)
โทร. 02-205-6644