กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กรมสรรพากร
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (26 มิ.ย. 55) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทาง ภาษีอากรและค่าธรรมเนียมในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2554 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ดังนี้
1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อื่น
2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อื่น สำหรับการโอนทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ที่จำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกันหนี้กับสถาบันการเงินและได้มีการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวให้บุคคลอื่น เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่
4. ยกเว้นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่กรมสรรพากรกำหนด สำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อื่น
5. ลดหย่อนค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ลงเหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการโอนหรือการจำนองอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
6. ลดหย่อนค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุดลงเหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการโอนหรือการจำนองอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
นายทนุศักดิ์ กล่าวว่า “มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยให้ลูกหนี้ NPL สามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการ ตลอดจนประกอบอาชีพและธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งยังช่วยลดระดับ NPL ลงตามเป้าหมายในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสถาบันการเงินและการคิดค่าบริการแก่ผู้บริโภคลดลง ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันกับสถาบันการเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น อันเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
ดร.สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรการดังกล่าวออกไปอีก 2 ปี จะช่วยส่งเสริมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ NPL อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทั้งลูกหนี้ รวมถึงสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น”
สำนักวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร
โทร. 0 2272 8033