กรมป่าไม้-ราชบุรีโฮลดิ้ง เปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนจังหวัดชัยภูมิ หวังกระตุ้นสำนึกรักษ์ธรรมชาติและเสริมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 27, 2012 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กรมป่าไม้ และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชน ณ ป่าชุมชนเขาขามหินโยก อำเภอบ้านเขว้าและป่าชุมชนเขาวง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นป่าชุมชนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมประกวดป่าชุมชนตัวอย่าง รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" นายประลอง ดำรงไทย ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กล่าวว่า "ความสำเร็จในการร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและดูแลพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ ให้คงความอุดมสมบูรณ์จนสามารถเป็นแบบอย่างของการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อให้สาธารณชนได้ประจักษ์ และจุดประกายแนวคิดการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ให้แก่ชุมชนใกล้เคียง ตลอดจนประชาชนทั่วไปให้รู้คุณค่าและหวงแหนผืนป่า อย่างป่าชุมชนเขาขามหินโยก และป่าชุมชนเขาวง จังหวัดชัยภูมิ เกิดขึ้นจากการผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับภาคเอกชน และประชาชนในท้องถิ่น นับเป็นตัวอย่างที่กรมป่าไม้ภาคภูมิใจ เพราะชุมชนมีความเข้มแข็ง จนสามารถพัฒนาและบริหารจัดการป่าชุมชนได้ตามหลักการ "ป่ายั่งยืน ชุมชนได้ประโยชน์" ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกรมป่าไม้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยาการป่าไม้ ด้วยการประสานการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรธรณี ทั้งนี้ กรมป่าไม้ มีเป้าหมายที่จะรักษาพื้นที่ป่าไม้ของประเทศให้คงอยู่อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ เพื่อประโยชน์หลัก 2 ประการ คือ 1) เป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่หายากและป้องกันภัยธรรมชาติอันเกิดจากน้ำท่วม และการพังทลายของดิน 2) เป็นป่าเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังรณรงค์ปลูกฝังให้ประชาชนเกิดความรักและหวงแหน รู้จักใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างประหยัด ด้วยการให้ความรู้ สร้างทัศนคติ ความสำนึก และทักษะ แก่ประชาชนให้เข้าใจถึงประโยชน์ของป่าไม้และผลเสียจากการตัดไม้ทำลายป่า การใช้สอยไม้อย่างฟุ่มเฟือย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านป่าไม้ โดยส่งเสริมการปลูกป่าชุมชน ส่งเสริมการปลูกป่าในที่ดินของรัฐ และการปลูกป่าตามหัวไร่ปลายนา หรือการ ปลูกป่ารายย่อยเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือน โดยปัจจุบัน กรมป่าไม้ได้อนุมัติจัดตั้งป่าชุมชนเกือบ 8,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 3 ล้านไร่ นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า " กิจกรรมเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสังคมหลักของบริษัทฯ และเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทฯกับกรมป่าไม้ ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน และเนื่องในโอกาสครบปีที่ 10 ของการก่อตั้งบริษัทฯในปี 2553 จึงได้ริเริ่มกิจกรรมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ด้วยเล็งเห็นว่า เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการป่าชุมชน เพราะจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจธรรมชาติ เพื่อให้คนเกิดตระหนักรู้คุณค่าของธรรมชาติ และกระตุ้นจิตสำนึกสาธารณชนให้เกิดความรักและหวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ บริษัทฯและกรมป่าไม้ ได้ร่วมกันพิจารณาและคัดเลือกป่าชุมชนที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ และที่สำคัญเป็นป่าชุมชนที่ทุกภาคส่วนของชุมชนมีส่วนร่วมและมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติของชุมชนและสังคม โดยมีป่าชุมชนที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 10 แห่งจากทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านทาป่าเปา ต.ทาปลาดุก อ.แม่ทา จ.ลำพูน, ป่าชุมชนเขาอ้ายโป้ด ต.ซับตะเคียน อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี, ป่าชุมชนเขาขามหินโยก ต.ตลาดแร้ง อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ, ป่าชุมชนบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก, ป่าชุมชนบ้านสระแก้ว ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี, ป่าชุมชนเขาวง ต. วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ, ป่าชุมชนโนนใหญ่ ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ, ป่าชุมชนเขาซ่าเลือด ต.ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, ป่าชุมชนบ้านพุยาง ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี, ป่าชุมชนบ้านยางโทน ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี" "โดยแนวคิดในการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติของป่าชุมชนทั้ง 10 แห่ง จะเน้นสร้างบรรยากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้เยี่ยมชมสามารถศึกษาธรรมชาติของป่าชุมชนได้อย่างทั่วถึงในช่วงเวลาที่มีจำกัด การออกแบบเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติจะมีแบบระยะใกล้และระยะไกล ทั้งแบบมีผู้นำชมและสามารถเดินชมด้วยตนเองได้ ตลอดเส้นทางเดินจะมีลักษณะคล้ายเป็นเส้นทางพักผ่อนหย่อนใจ ผสมผสานกับเส้นทางชมทัศนียภาพ แต่ผู้มาเยือนจะได้รับความรู้จากป้ายสื่อความหมายต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติและสรรพสิ่งภายในป่า ทำให้ผู้มาเยือนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเพลิดเพลิน หรือเป็นการเรียนรู้แบบสมัครใจ ซึ่ง จะช่วยให้การพัฒนาจิตสำนึกและการสร้างความเข้ารู้ความเข้าใจมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น" นางบุญทิวา กล่าวเพิ่มเติม สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าชุมชนเขาขามหินโยก อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ มีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ คือ "ต้นมะขามอายุ 100 ปี" สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า นอกจากนี้ยังมี "เขาหินโยก" ซึ่งเป็นกลุ่มหินตามธรรมชาติเรียงรายยู่ภายในป่าชุมชนห่งนี้ ประกอบด้วย หินสามเส้า, หินนางคอย และหินโยก ซึ่งเป็นก้อนหินขนาดใหญ่มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 60 ตัน ตั้งอยู่บนหน้าผาสามารถโยกให้เคลื่อนไหวได้ด้วยมือเพียงข้างเดียวโดยที่หินไม่เคลื่อนที่หล่นจากหน้าผา "บ่อน้ำทิพย์" ที่บ่อน้ำชาวบ้านเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีน้ำอยู่ตลอดทั้งปี "พุทธอุทยาน" เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมในวันวิสาขบูชามีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเอียง มีหินรูปร่างแปลกตาบนพื้นที่กว่า 300 ไร่ นอกจากนี้ยังมี “น้ำตกตาดร้อยรู”และ “ถ้ำค้างคาว” ซึ่งผู้มาเยือนเส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาขามหินโยกจะได้พบเห็นและศึกษาความเป็นมาอย่างครบถ้วน เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าชุมชนเขาวง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เป็นเส้นทางที่นำนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ความหลากหลายทางชีวภาพและความสวยงามตลอดลำห้วยเชียงทา รวมถึง วิถีชีวิตของชุมชนที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการดำรงชีวิตจากพื้นที่แห้งแล้วกันดารจนกลายมาเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนให้พ้นจากความอดอยากนำไปสู่แรงงานกลับคืนถิ่นฐานบ้านเกิด ความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้ป่าชุมชนแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จากการประกวดป่าชุมชนตัวอย่างรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" เมื่อปี 2551 ปัจจุบัน ป่าชุมชนเขาวงถือเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการป่าของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์การระหว่างประเทศที่มีมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่จัดทำขึ้นครั้งนี้จะช่วยเสริมให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้และการศึกษาธรรมชาติของป่าชุมชนเขาวง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังจะช่วยต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนได้เป็นอย่างดีด้วย สื่อมวลชนสัมพันธ์ กรมป่าไม้ อำนวยพร ชลดำรงค์กุล โทร. 0 2561 4292-3 ต่อ 5914 อีเมล์: amchol44@gmail.com บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) วิวรรณ พยัฆวิเชียร และนฌงฌล ใจพรหม โทร. 0 2794 9941-2 อีเมล์ : wiwanp@ratch.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ