กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--เอสซีจี
สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราไม่ว่าจะเป็น ภูเขา ต้นไม้ หรือแม่น้ำลำธาร เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ค้ำจุนเคียงข้างเรามาตลอด
แต่ที่ผ่านมาเราเคยละเลยหลงลืมญาติผู้ใหญ่ของเราไปบ้างหรือไม่
เหมือนอย่างที่ ผู้ใหญ่ประสงค์ สุวรรณราย ผู้ใหญ่บ้านใจดี แห่งชุมชนเขายายดา จ. ระยอง เล่าถึง “เขายายดา” ที่เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ของชาวระยอง “แต่ก่อนเขาลูกนี้ประสบวิกฤติขาดแคลนน้ำ ผืนป่าแห้งแล้ง ไม่ว่าจะใช้รถขุดหรือเจาะบ่อบาดาลอย่างไรก็ไม่พบน้ำ ทำให้ชาวบ้านทำการเกษตรไม่ได้ นอกจากนั้นพอฝนตกหนักเข้า น้ำก็ไหลลงจากเขาอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำท่วมหลายชุมชนที่อยู่บริเวณตีนเขา ชาวบ้านก็เดือดร้อนกันทั้งแบบน้ำแล้ง และแบบน้ำท่วม”
เพราะยายดาไม่ได้เป็นเพียงภูเขาลูกหนึ่ง หากแต่เป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่และยังเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง เอสซีจี เคมิคอลส์จึงสานต่อกิจกรรม “SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์น้ำที่น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทาง โดยรวมพลังพี่น้องชาวระยองและมวลชนจิตอาสาทั้งพนักงาน และชุมชนจากจังหวัดข้างเคียงมาร่วมแรงร่วมใจสร้างฝายชะลอน้ำ คืนความชุ่มชื้นและความสมดุลของระบบนิเวศสู่ญาติผู้ใหญ่ของเรา
“เอสซีจี เคมิคอลส์ร่วมกับชุมชนและพนักงานสร้างฝายชะลอน้ำบนเขายายดาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว” นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าว “ในปีนี้เราก็ยังเดินหน้าสานต่อแนวพระราชดำริของพ่อหลวง โดยได้รวมพลังมวลชนจิตอาสา ทั้งชุมชนชาวระยอง พนักงาน หน่วยงานราชการ และอาสาสมัคร กว่า 2,000 คน มาร่วมสร้างฝายชะลอน้ำ ณ เขายายดา เพื่อสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์น้ำให้หยั่งรากลึกลงในใจของทุกคน” ผู้ใหญ่ประสงค์ สุวรรณราย เล่าให้ฟังถึงผลที่ได้จากการสร้างฝายชะลอน้ำบนเขายายดาว่า “หลังจากที่เอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามาสนับสนุนการสร้างฝายชะลอน้ำอย่างต่อเนื่อง เขายายดาก็มีน้ำใช้เพียงพอ เก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ในยามจำเป็น ทั้งแหล่งน้ำผิวดินและบ่อน้ำที่ชาวบ้านขุดขึ้นเอง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยางพาราที่ให้น้ำยางเพิ่มขึ้น สวนผลไม้ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ สละ ลองกอง เจริญงอกงาม ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ชุมชนในพื้นที่ยังสัมผัสได้ถึงสภาพอากาศที่เย็นสบาย จากเดิมที่เคยแห้งแล้งและร้อนอบอ้าว”
นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช กล่าวต่อว่า “การสร้างฝายชะลอน้ำ นอกจากจะเป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้ป่า คืนสมดุลให้ระบบนิเวศแล้ว ยังก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่เรียกว่า “การสร้างฝายในใจคน” ด้วย เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ชุมชน โดยใช้ฝายชะลอน้ำเป็นเครื่องมือ ในการสร้างโอกาสให้ชุมชนหันมาพูดคุยกันมากขึ้น วิเคราะห์ปัญหา และหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ช่วยสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ปัจจุบันเราสร้างฝายชะลอน้ำเสร็จแล้วกว่า 2,800 ฝาย ซึ่งช่วยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของเขายายดาให้มีศักยภาพเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำคัญทางธรรมชาติของระยอง”
นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “ที่ผ่านมาพื้นที่เขายายดา จังหวัดระยอง ต้องเผชิญกับวิกฤติขาดแคลนน้ำ แต่โชคดีที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนอย่าง เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องการสร้างฝายชะลอน้ำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยโครงการนี้ของเอสซีจี เคมิคอลส์เน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ยึดหลักชุมชนเป็นผู้ปฏิบัติ รัฐเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งเอสซีจี เคมิคอลส์นับเป็นตัวอย่างของหน่วยงานเอกชนที่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และส่งเสริมให้พนักงานร่วมมือกับชุมชนช่วยกันสร้างฝายใหม่ รวมทั้งซ่อมแซมฝายเดิมที่มีอยู่ จนสามารถช่วยฟื้นฟูสภาพของเขายายดาให้กลับมามีน้ำกิน น้ำใช้ ได้อย่างสมบูรณ์ในระยะยาว”
ความเปลี่ยนแปลงของเขายายดา ได้ถูกบันทึกเป็นข้อมูลทางสถิติ ดังที่ ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ผู้อำนวยการส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผย “น้ำในพื้นที่จังหวัดระยอง นับเป็นสิ่งมีค่าต่อความเป็นอยู่ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ผลจากการศึกษาโดยวิธีการของ SCS-CN Methodology ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เขายายดา ช่วยลดปริมาณน้ำหลาก พื้นที่ลุ่มน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น 900 ลบ.ม. มวลชีวภาพของต้นไม้ในป่าในส่วนของพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือพื้นที่สองฟากฝั่งลำน้ำ เพิ่มขึ้นเป็น 23.5 ตัน/ไร่ ผืนป่าเขายายดาสามารถเก็บกักและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน”
เป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปีแล้วที่ เอสซีจี เคมิคอลส์ ร่วมมือกับพี่น้องชาวระยองสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งเมื่อยายดากลับมาสวยสดชื่นแล้ว ญาติผู้ใหญ่ของเราท่านนี้ไม่เพียงแต่จะเอื้อให้เกิดผลผลิตทางธรรมชาติของเกษตรชุมชนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น หากแต่ยายดายังพร้อมที่จะเป็น “แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ” แห่งใหม่ ให้เหล่าลูกหลานระยองและประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นห้องเรียนตามธรรมชาติด้วย อันเป็นแนวทางปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้พวกเราทุกคนตระหนักว่าเราเองก็เป็นหนึ่งในลูกหลานของ “ยายดา” ญาติผู้ใหญ่ที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ของพวกเรา