กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--Digital Agenda Thailand
Digital Agenda Thailand หรือ“วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย” โครงการดีๆ ยังคงมุ่งมั่นรณรงค์ให้ความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสื่อยุคดิจิทัลทุกเรื่อง เพื่อให้คนไทยรู้ทันยุคและก้าวทันโลกในปัจจุบัน ล่าสุดจัดสัมมนาต่อเนื่องเป็นซีรี่ส์ที่ 4 ภายใต้หัวข้อ "Content & Creativity in the Digital Thailand" เพื่อกระตุ้นผู้ผลิต นักคิด และนักสร้างสรรค์ให้เตรียมพร้อมรับมือกับการก้าวสู่ยุคของสื่อดิจิทัล ทั้งในแง่การสร้างสรรค์ Content และเรื่องของลิขสิทธิ์ Content เพราะกว่าที่ธุรกิจหรือรายการดีๆ รายการหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ ย่อมต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง รวมถึงมันสมองและต้นทุน สิ่งเหล่านี้จึงควรได้รับการปกป้องอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะในยุคสื่อดิจิทัลที่เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ และการก๊อปปี้ผลงานเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
ทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดเสวนา เปิดเวทีนักคิดไทย โดยเชิญทั้งผู้ผลิต นักคิด นักสร้างสรรค์รวมถึงนักกฎหมายและผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจสื่อโทรทัศน์มาร่วมถกในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของ “สิทธิ กับลิขสิทธิ์” ซึ่งประเด็นที่ทุกคนกำลังจับตาคงหนีไม่พ้นเรื่องกรณี “จอดำ” ศึกฟาดแข้งฟุตบอลยูโรระหว่างคู่เด็ดนอกสนามอย่าง แกรมมี่ และ ทรูวิชั่นส์นั่นเอง ดังนั้นการเสวนาครั้งนี้จึงคึกคักและเข้มข้นไปด้วยผู้ร่วมเสวนา ที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านหลักการ ประสบการณ์ ตลอดจนมุมมองความคิด แต่ทุกคนต่างเห็นเหมือนกันว่า นี่คือ กรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งของสังคมไทย
ถามว่า สังคมไทย ได้อะไรจากกรณี “จอดำ”???
รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดี คณะนิติศาสตร์และประธานสถาบันวิชาการนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและในฐานะผู้ร่วมผลักดันโครงการ Digital Agenda Thailand “วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย” ในประเทศไทย ชี้ว่ากรณี “จอดำ” คือการเคารพลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
“กฎหมายประเทศไทยรองรับเรื่องของสิทธิในการออกอากาศมานานแล้ว เรื่องนี้ต้องขอชมสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 5 7 9 11 หรือแม้แต่ ThaiPBS ประเทศไทยอาจจะมีเรื่องการละเมิดลิขสิทธ์มากมาย แต่ทีวีไทยที่ผ่านมาได้ให้การเคารพเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญามาโดยตลอดจนทุกวันนี้ ดังนั้นการที่บ้านเราเกิดกรณี “จอดำ” ก็เป็นเพราะเราเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาผู้อื่น เพราะถ้าไม่เคารพก็จะไม่มีจอดำเกิดขึ้น อีกประเด็นคือเรื่องของสิทธิ ประเทศไทยไม่มีใครได้ลิขสิทธิ์ในส่วนนี้มาแท้จริง แต่ได้สิทธิที่ใช้ในการออกอากาศ ซึ่งสิทธินี้จะหมดไปเมื่อออกแล้วไม่สามารถนำมารีรันได้ ดังนั้นหากมีผู้อ้างสิทธิในฐานะผู้บริโภค และต้องการบังคับให้ผู้ได้สิทธิมาส่งสัญญาณให้นั้น ตอบว่า ไม่ได้ เพราะถ้าในทรัพย์สินหรือสิทธิซึ่งเขาไม่มี จะไปบังคับให้เขาทำได้อย่างไร “
ด้านผู้ที่ได้รับสิทธิในการออกอากาศ และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงไม่แพ้ผู้เรียกร้องสิทธิ์อย่างแกรมมี่ ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี เอ็ม เอ็ม แซท จำกัด แสดงความเห็นว่าเรื่องนี้ขอให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับกสทช. หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ ด้วยการทำหน้าที่ร่างกฎระเบียบ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจได้นำไปใช้เป็นแนวทางต่อไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากการไม่มีกฎระเบียบให้ยึดปฎิบัติ ภาคเอกชนจึงทำธุรกิจโดยยึดหลักเกณฑ์จากปลายทางหรือเจ้าของสิทธิเป็นหลัก
ส่วน เอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานกิจการองค์กร บริษัท ไทยคม จำกัดในฐานะผู้ให้บริการด้านจานดาวเทียม นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรณี จอดำ ว่าไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคหรือ Platform ปัญหาจริงๆ คือกฎหมายลิขสิทธิ์ เรื่องของสิทธิและเรื่องของ regulation ในประเทศของเรา
“ บางประเทศในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เขามี regulation ที่เรียกว่า Must Carry เป็นกฎระเบียบสำหรับธุรกิจเคเบิ้ลทีวีว่ามีหน้าที่ต้อง carry content ของช่อง free TV เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิได้รับชม free TV ผ่านทางเคเบิ้ลแต่มีเงื่อนไขว่าเช่น ไม่ใช่ free TV ทุกช่องที่จะได้สิทธิตรงนี้ โดยรัฐบาลจะเป็นคนเลือกว่าช่องไหนที่คิดว่าประชาชนจำเป็นจะต้องได้รับข้อมูลจากทางช่องก็จะบังคับว่าช่องนี้เคเบิลจะต้องเอาไปลง ซึ่งต่างกับไทยเพราะเคเบิ้ลทีวีไทยอยากได้ free TV ไปลง
และบางประเทศก็มี Must Carry ที่ระบุว่าให้ free TV มีสิทธิ retransmission consent ที่จะไม่ให้ก็ได้ เป็นการให้สิทธิ free TV เรื่องบริหาร content ถ้า free TV คิดว่า Content ตัวเองไม่อยากจะออกก็สามารถเรียกเก็บค่าตอบแทนประการใดๆ จากเคเบิ้ลได้เหมือนกัน เป็นการสร้าง balance ในธุรกิจ”
จากมุมมองการนำเสนอดังกล่าว ภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา พิธีกรฝากปากกล้าจากรายการตอบโจทย์ในฐานะผู้ตั้งประเด็นคำถามบนเวที มองว่าหากในอนาคต กสทช. ต้องการออกกฎ Must Carry กับช่อง free TV ทั้งหมดบ้าง หรืออาจจะ apply ใช้กับกรณียูโร ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น ใครจะต้อง carry ใคร ใครคือผู้รับต้นทุนในการ carry ตรงนี้
ในมุมมองของนักกฎหมาย รศ. สุธรรม แสดงความเห็นว่า สามารถทำได้แต่ต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
“เพราะความเป็นจริง regulator มีอำนาจเฉพาะในส่วนที่เรียกว่า broadcast regulation แต่ในส่วนที่เรียกว่า media regulation กับ content regulation มันคนละเรื่องกัน โดยในอเมริกาค่อนข้างจะชัดเจนในเรื่องของ media, content เพราะฉะนั้นการที่ regulator จะออกกฎ Must Carry เพื่อบังคับให้ออกรายการอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นรายการในประเทศไทยหรือรายการต่างประเทศ หรือรายการที่เราไม่มี copy right ก็กลายเป็นประเทศไทยบังคับใช้สิทธิของคนต่างชาติ ปัญหาก็คือไม่ว่าจะเป็นใครต้องใช้สิทธิที่ตัวเองไม่มีสิทธิ คำถามคือ กฎหมายนี้คือกฎหมายอะไร มันไม่ใช่กฎหมายของ กสทช. นะ
กสทช. มีกฎหมายแต่ก็ไม่สามารถที่จะยกเว้นสิทธิที่กฎหมายการันตีไว้แล้วตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้ ถ้าจะยกเว้นกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ต้องไปเข้า Rule ของกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อน การรอนสิทธิต้องใช้สิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์ อันนี้เฉพาะในประเทศไทย”
นอกจากนี้ยังมีประเด็นร้อนที่ถูกนำมาถก นอกจากเรื่องของสิทธิของผู้ครอบครองลิขสิทธิ์ สิทธิของผู้ได้รับมอบลิขสิทธิ์ อีก สิทธิสำคัญที่ถูกนำมาเรียกร้องในปัจจุบันคือ เรื่องของสิทธิผู้บริโภค ตามรัฐธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เส้นแบ่งของกฎหมายระหว่างลิขสิทธิ์กับสิทธิผู้บริโภคอยู่ตรงไหน ใครสามารถทำอะไรได้อย่างไรบ้างในเรื่องนี้ เป็นอีกคำถามบนเวทีที่มีคำตอบ ในอนาคตอีกไม่นานเรื่องการถ่ายทอดโอลิมปิก ซึ่งถือเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติ อาจมีเรียกร้องที่กว้างขวางกว่านี้อีกก็เป็นได้
“ เราต้องเดินตามกฎหมายต่อไป กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยมีแล้ว กฎหมาย WTO ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสมาชิก เพราะฉะนั้นในแง่ของกฎหมายเราเดินตามกฎหมายตลอดและผมไม่คิดว่า การที่กฎหมายลิขสิทธิ์เขียนจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญซึ่งต้องไปร้องอีกทีนะครับ” คำตอบจากนักกฎหมาย
“ในอนาคตมันเป็นเรื่องระดับชาติ ถ้าเป็นเรื่องระดับชาติ ชาติต้องจัดการครับ รัฐบาลต้องจัดการ เรามีหน่วยงานที่จะต้องพร้อมที่จะตอบ อย่างโอลิมปิกที่ผ่านมาก็เป็นของทีวีพูล ซึ่งก็เป็นเรื่องของการตกลงของเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว มันไม่ได้เป็นอะไรที่ซับซ้อนเลย เรื่องนี้มันเป็นเรื่อง Business Deal ที่เป็นเรื่องปกติมาก ที่ผมตลกมากเลย อันนี้ก็อนุญาตท่านรัฐมนตรี อันนี้มันเป็นเรื่องทางธุรกิจเรื่องทางเสรี ซึ่งเขาไม่เคยบอกว่า ข้อจำกัดมันคืออะไร แต่ว่ากำลังลักไก่เล็กน้อยเผื่อได้ดู หากในอนาคตระดับชาติคือ โอลิมปิก ก็ทำเหมือนเดิมครับคือทีวีพูลเขาก็รวมตัวกันหาสปอนเซอร์แล้วไปซื้อลิขสิทธิ์มาทำฟรีออกอากาศ ไม่ว่าใน Platform ไหนแล้วก็ดูกันไปได้เลยและก็มีคนรับผิดชอบไป ผมว่าจริงๆ ปัญหานี้ basic มาก ๆ เลย ผมไม่รู้ว่า ทุกวันนี้ผมอ่านหนังสือพิมพ์ผมปวดหัวมาก เพราะดูมันซับซ้อนไม่จบ จนบอลผ่านรอบ 2 ไปแล้ว” ความเห็นของยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการแผนกต่างประเทศ บริษัทจีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด
หันมาทางนักสร้างสรรค์ อย่างนักแต่งเพลงบ้าง เขามองเรื่องนี้อย่างไร ???
หนึ่ง - ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ “ ผมมองในมุมของเป็นผู้บริโภคที่รู้น้อยสุด ผมว่าเรื่องลิขสิทธิ์มันเป็นเรื่องถูกต้องเท่านั้นเอง ...ไม่มีของฟรีในโลก .... มันไม่เหมือนเพลงที่จะดาวน์โหลดฟรีทางอินเตอร์เน็ตได้ง่าย
“ ผมอยากให้เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ทางเพลง ทางหนังเป็นข่าวดังอย่าง จอดำ ในยูโรบ้าง รู้สึกว่าในเรื่องของทางเพลง ทางหนังมันมีข่าวเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เยอะมากเลย แต่มันไม่เกิดอะไรขึ้นไม่เคยเป็นวาระแห่งชาติเลย อยากให้ทางรัฐบาลลองมาสนใจทางหนังทางเพลงบ้างนอกจากเรื่องฟุตบอล ผมก็เข้าใจในแง่ของการรับสิทธิ์มา อย่างตัวเองก็เคยแต่งเพลงที่เป็นลิขสิทธิ์ของเกาหลี ซื้อทำนองมา มันจะมีเงื่อนไขเยอะแยะมากมายเลย คือ ผมเป็นคนเขียนเนื้อไทยเข้าไปแต่สิทธิ์ในการเผยแพร่จะบ่งบอกเลยว่า โอเค สามารถเผยแพร่ได้แค่ copy เท่านั้น ต้องทำการเผยแพร่ทางสื่อนี้สื่อนี้ ถ้าผมจะเอาเพลงนี้ในชื่อผมแต่งในเวอร์ชั่นไทยมาขึ้นคอนเสิร์ตเรายังต้องขอลิขสิทธิ์จากทางเกาหลีเลยว่า ถ้าจะเอาเพลงนี้มาขึ้นคอนเสิร์ต คุณคิดเท่าไร อันนี้ต้องเคารพกติกากันและอยู่ที่เงื่อนไขที่เขาจะบอกว่า อนุญาตหรือไม่อนุญาต
สุดท้ายในฐานะคนทำของ คนทำ content ยงยุทธ ทองกองทุน บอกว่า “ ผมว่าสิ่งนี้มันเป็น case study ที่ดี ทำให้คนไทยตื่นตัวในเรื่องการเคารพสิทธิและเราจะรู้สึกหวงของของเรา ยกตัวอย่างของหนังเพราะหนังเป็นเหมือนแหล่งรวมของศาสตร์และศิลปะมากมายซึ่งด้านภาพ ด้านการแสดง ด้านเสื้อผ้า ด้านอะไรเหล่านี้ ของพวกนี้หนังเรื่องหนึ่งมันเป็นแคตาล็อก เวลาเราไปฉายนู่นนี่มันเป็นการสร้างกลุ่ม สร้างวงจรชีวิตให้สินค้า เวลาเราฉายหนังเรื่องหนึ่งได้กำไรมา เราเอาส่วนแบ่งๆให้ทุกคน เพราะฉะนั้นถ้าเราปลูกฝังให้เราเคารพสิทธิคนอื่นและคนอื่นเคารพเราสิ่งเหล่านี้จะสร้างความแข็งแรงให้กับทุกอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นรู้สึกว่ากรณีนี้ดีแต่ว่าควรจบได้แล้ว เพราะเป็นเรื่อง Commonsense มากๆ ครับ”
เวทีนี้ไม่ได้ตอบโจทย์อย่างเดียว แต่ยังได้หาคำตอบให้กับสังคมไทยแล้วว่า “ ได้อะไร” จากกรณี “จอดำ” บ้าง!!