กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ธนาคารกรุงเทพ
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่างการเสวนาระดับผู้นำ ในหัวข้อ ‘Greater Mekong Investment Forum’ ซึ่งจัดโดยยูโรมันนี่ โดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการจัดงาน ว่า อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) มีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สมาชิกในกลุ่มจีเอ็มเอส ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมณฑลยุนนานและกว่างสีในจีนตอนใต้เมื่อผนวกเข้าด้วยกันจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรกว่า 350 ล้านคน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในภาคการธนาคาร การค้า การลงทุน และระบบโครงสร้างพื้นฐาน
“เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้กำลังหลอมรวมและเชื่อมโยงกันมากขึ้นกว่าครั้งใด ผ่านการค้าชายแดนของแต่ละประเทศ ตลอดจนการลงทุนและการแลกเปลี่ยนบริการในด้านต่างๆ ซึ่งจำเป็นที่ทุกประเทศสมาชิกจะต้องร่วมกันรักษาและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ด้วยเงินทุน องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการตลอดจนบทบาทและความสัมพันธ์ของประเทศไทยในห่วงโซ่อุปทานของโลก ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับสมาชิกในกลุ่มจีเอ็มเอสในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันและกับประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สูงสุดแก่อนุภูมิภาคดังกล่าว”
ความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกจีเอ็มเอสซึ่งต่างมีความโดดเด่นในเชิงการแข่งขันเฉพาะตัวจะสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแก่ทุกประเทศในอนุภูมิภาคได้มากกว่าการดำเนินการของแต่ละประเทศโดยลำพัง
ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีเครือข่ายสาขากว่า 25 แห่งในต่างประเทศและสำนักงานตัวแทนอีก 1 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน รวมทั้งความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศจีเอ็มเอสมายาวนานกว่า 50 ปี ธนาคารกรุงเทพจึงพร้อมให้การสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ด้วยความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง
ตลอดระยะเวลา 2 วันของการประชุม ธนาคารกรุงเทพได้จัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ เวิร์กช็อปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศจีเอ็มเอส โดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และสมาชิกวุฒิสภา ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารได้เข้าร่วมการเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโอกาสทางธุรกิจและศักยภาพในการเติบโตของอนุภูมิภาค
อนึ่ง ผู้เข้าชมบูธธนาคารกรุงเทพภายในงานจำนวนมาก สนใจสอบถามเกี่ยวกับประเทศพม่า เนื่องจากธนาคารได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศพม่ามาตั้งแต่ปี 2538 จนกระทั่งปัจจุบัน ธนาคารมีเจตนารมณ์ที่จะยื่นขออนุญาตเปิดสาขาในประเทศพม่าทันทีที่ทางการของพม่าดำเนินนโยบายเปิดเสรีภาคการธนาคาร
เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศพม่าของธนาคารกรุงเทพ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดตั้งธุรกิจในประเทศพม่า ปัจจัยด้านกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนจากต่างชาติ และโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติของประเทศพม่า โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และเริ่มเปิดประเทศรับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ธุรกิจไทยจึงควรตระหนักถึงจุดแข็งของพม่า อันได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ ความพร้อมด้านแรงงาน และการเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการมีความสนใจเข้าไปลงทุนอย่างมาก ดังนั้นเมื่อการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติยุติลง ธุรกิจไทยจะมีโอกาสในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ได้มากยิ่งขึ้น