กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
วงการการศึกษาไทยจะได้รับความสนใจจากสังคม เมื่อถึงฤดูกาลหาที่เรียนของเด็กที่กำลังจะจบมัธยมปลายทุกๆ ปี และก็จะหายเงียบไปดังคลื่นกระทบฝั่ง และก็จะกลับมาด้วยปัญหาเดิมๆ ทุกปี เช่นเดียวกับ การเรียน วิชาฟิสิกส์ ด้วยข้อจำกัดของหลักสูตรและกำแพงความรู้ของอาจาย์ผู้สอน ทำให้เด็กไทยให้ความสนใจการเรียนด้านนี้น้อยลงทุกปี
“โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น” ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และเซิร์น มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักฟิสิกส์จากประเทศไทยเข้าร่วมทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคกับนักวิจัยในกลุ่มซีเอ็มเอส (The Compact Muon Solenoid- CMS) รวมถึงการส่งนักศึกษาและครูฟิสิกส์ระดับมัธยมศึกษาจากประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ เซิร์น ซัมเมอร์ สติวเด้น โปรแกรม (CERN Summer Student Programme) และ เซิร์น ฟิสิกส์ ไฮสคูล ทีเชอร์ โปรแกรม (CERN Physics High School Teacher Programme) ซึ่งจัดในช่วงภาคฤดูร้อนของทุกปี เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาและครูฟิสิกส์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมวิชาการกับนักศึกษา ครู และนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก และพัฒนาความรู้ทางด้านฟิสิกส์อนุภาค
ความร่วมมือระหว่างไทยกับเซิร์น (CERN: The European Organization for Nuclear Research) เกิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สนพระทัยในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเซิร์น ในหลายวโรกาสได้ทรงมีพระราชดำริว่า หากนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับเซิร์น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ไทยเป็นอันมาก เพื่อสนองแนวพระราชดำริดังกล่าว จึงได้เกิดการประสานงานระหว่างทีมผู้บริหารของเซิร์นและสถาบันวิจัยแสง ซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือทางวิชาการในแขนงที่เกี่ยวข้อง กระทั่งในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์น ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 จึงได้มีการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงความร่วมมือกัน (Expression of Interest in The Participation of Physicists from Universities and Research Institutes from Thailand in the CMS Experiment at the CERN LHC Accelerator (EOI) ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และเซิร์น โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระกรุณาธิคุณเสด็จประทับเป็นองค์ประธานสักขีพยานในการลงนามครั้งนั้นด้วย
ปี 2555 นี้ มีครูผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปเซิร์นจำนวน 2 ท่าน ซึ่งก่อนเดินทางไปเซิร์น ต้องเข้าร่วมสัมมนาเชิงวิชาการและปฏิบัติการ ณ สถาบันแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา ในโครงการ Thailand Experimental Particle Physics Novice Workshop, โครงการ CERN School Thailand และ โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียน และโครงการฝึกอบรมครูฟิสิกส์ไทย
และนี่คือ เสียงสะท้อนจาก ผู้แทนประเทศไทย ในโครงการครูสอนฟิสิกส์ ภาคฤดูร้อนเซิร์น ปี 2555 “การศึกษาไทยไปได้ไกลกว่าที่คิด อย่ายึดติดกับหลักสูตรกรอบที่ถูกตีตราโดยตำราและอาจารย์ผู้สอน”
นางสาวชุลีณี พาหุรัตน์ จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า “จากการศึกษาเว็บไซต์ของเซิร์นด้วยตัวเอง และก็มาได้รับการอบรมจากรุ่นพี่ที่ไปมาแล้ว เพิ่งจะรู้จัก คว๊ากอิเลกตรอน อนุภาคลำเลียง ตอนที่เขาเล่าให้ฟัง ทดลองให้เห็น ถ้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง เชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ว่าต้องได้อะไรกลับมามากมาย โครงการนี้ดีมากๆ และก็เชื่อว่าการไปเซิร์นครั้งนี้จะช่วยเปิดประตูต่อยอดความรู้ด้านฟิสิกส์ได้อย่างมหาศาล พอรู้ว่าได้รับคัดเลือก ดีใจ ประทับใจ ปลื้มปิติยินดีเป็นที่สุด เพราะรอบสุดท้ายพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงคัดเลือกเอง ที่สุดของชีวิตแล้ว เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และตั้งใจอย่างแรงกล้าว่า เมื่อกลับมาเราจะนำความรู้ที่ได้ส่งต่อถึงเพื่อนครูและนักเรียนของเราให้ได้มากที่สุด ที่ตั้งใจไว้คือ จะเดินสายเป็นวิทยากร ก่อนไป ก็ประสานกลับเพื่อนๆ ครูไว้หลายแห่งแล้ว ซึ่งทุกคนดีใจมากที่เราจะนำความรู้มาส่งต่อให้ โดยส่วนตัวคิดว่า จะให้วิชาฟิสิกส์อยู่ในใจเด็กหรือไม่ อยู่ที่ครูผู้สอนเป็นหลัก ซึ่งคิดว่าเพื่อนครูทุกคนทำดีที่สุดแล้ว ถ่ายทอดดีที่สุดแล้ว ด้วยข้อจำกัดในเรื่องหลักสูตรการศึกษาของบ้านเรา แต่เมื่อมีโอกาสต่อยอดพัฒนาความรู้อย่างครั้งนี้ ก็จะไม่ปล่อยโอกาสให้ผ่านไป จะกลับมาทำหน้าที่ส่งต่อความรู้นี้ไปถึงเพื่อนครู และ นักเรียน เท่าที่ความสามารถของครูคนหนึ่งจะทำได้” นายสุรศักดิ์ ศรีสุวงศ์ จากโรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม จ.อุดรธานี เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า “ดีใจรู้สึกปลื้มปิติมากครับ มากที่สุดในชีวิตความเป็นครู สุดสุดแล้วครับ เป็นการให้โอกาสนานัปการแก่ครูฟิสิกส์ของไทยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ใหม่ทางด้านฟิสิกส์อนุภาคในระดับนานาชาติ ผมในนามตัวแทนครูฟิสิกส์ของไทยขอตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่จะสานต่อเจตนารมณ์ของโครงการเพื่อจุดประกายถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาแก่นักเรียนและสังคมเต็มความสามารถ ที่ตั้งใจไว้ก็คือ กลับมาจะตั้งเป็นชมรมที่โรงเรียนก่อน ทำเป็นโมเดลนำร่องเรื่องฟิสิกส์อนุภาค เมื่อแข็งแรง ก็จะเริ่มขยายต่อไปที่โรงเรียนอื่นๆ หรืออาจจะร่วมกับโครงการที่เกี่ยวข้อง ผมว่าการเรียนวิชาฟิสิกส์ไม่ยาก คิดให้สนุก ก็สนุก ฟิลิกส์อยู่รอบตัวเราทุกคนครับ และอยากบอกกับนักเรียนทุกคนว่า อาชีพด้านนี้ มีมากครับ ไทยเรา ยังขาดแคลนนักวิจัยด้านนี้อยู่นะครับ และนี่ก็เป็นโอกาสของพวกเราแล้วครับ ที่พวกเรามี สถาบันซินโครตรอน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแสงซินโครตรอนใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีโครงการพระราชทานดีดีแบบนี้เกิดขึ้นกับพวกเรา”