กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--กรีนพีซ
จับตาศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีประวัติศาสตร์ "คลิตี้ล่าง" นัดแรกพรุ่งนี้ นักกฎหมายชี้เป็นบรรทัดฐานคดีมลพิษ “กรีนพีซ” ย้ำ รัฐต้องปกป้องประชาชนก่อนนายทุน ภาคประชาชนเสนอปฏิญญาคลิตี้เพื่อแก้และป้องกันปัญหาเชิงรุก
ในวันที่ 26 มิ.ย. 2555 เวลา 09.30 น. นี้ ศาลปกครองสูงสุดได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก กรณีชุมชนคลิตี้ล่างฟ้องกรมควบคุมมลพิษให้ปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว โดยตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่างจะแถลงด้วยวาจาต่อศาลปกครองสูงสุดถึงผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ที่ยังคงอยู่ เพื่อให้ศาลได้พิจารณาคดีวางบรรทัดฐานให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยรวดเร็วและเป็นธรรม และตุลาการผู้แถลงคดีจะได้มีการชี้แจงความเห็นของตนในการวินิจฉัยคดีด้วยวาจาต่อตุลาการองค์คณะพิจารณาพิพากษา
นายสุรชัย ตรงงามประธานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะทีมกฎหมายของชุมชนชาวคลิตี้กล่าวว่า "คดีดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานคดีแรกที่ฟ้องให้หน่วยงานรัฐกำหนดมาตรการฟื้นฟูเยียวยาสิ่งแวดล้อมให้รวดเร็วและเป็นธรรม ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างอันเป็นผลกระทบต่อชุมชน และยังเป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงถึงความล่าช้าและบกพร่องของหน่วยงานรัฐในการปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับ กรณีมาบตาพุด กรณีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในลำห้วยแม่ตาว จ.ตาก กรณีการปนเปื้อนโลหะหนักในลำน้ำและในเลือดของชาวบ้านอ.วังสะพุง จังหวัดเลย และปัญหามลพิษอื่นๆ อีกมากมาย
“คดีนี้ยังถือว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งประชาชนฟ้องร้องหน่วยงานรัฐคือกรมควบคุมมลพิษให้ปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูการปนเปื้อนของมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเรียกค่าเสียหายจากปัญหาที่เกิดขึ้น ชาวคลิตี้ต้องทนอยู่กับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้มานานกว่า 14 ปี สิ่งที่ชาวคลิตี้ต้องการมากที่สุด คือการได้ลำห้วยคลิตี้ที่สะอาดปราศจากสารตะกั่วกลับคืนมาเท่านั้น” นายสุรชัย กล่าว
นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรณีสารตะกั่วปนเปื้อนห้วยคลิตี้เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายๆ กรณีที่แสดงให้เห็นถึงการเอาเปรียบของผู้ก่อมลพิษหรือทุนอุตสาหกรรมที่แสวงหาผลกำไรจากการตักตวงทำลายทรัพยากรส่วนรวมและผลักภาระให้แก่ชุมชนเป็นผู้รับผลกระทบ ที่สำคัญหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบมักจะเพิกเฉยหรือไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรและชุมชนเท่าที่ควร คดีดังกล่าวนอกจากจะกลายเป็นบรรทัดฐานเรื่องการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ปฏิญญาคลิตี้ 14 ข้อเป็นจริงด้วย
“ปฏิญญาดังกล่าวได้เกิดขึ้นจากปัญหาความเดือดร้อนที่ชุมชนถูกกระทำจากกลุ่มทุนและภาครัฐ ประชาชนจึงออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมและกระตุ้นภาครัฐให้คำนึงผลประโยชน์ของประชาชนและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมากกว่าการปกป้องกลุ่มทุนอุตสาหกรรม ดังนั้นหากภาครัฐนำไปพิจารณาและปฏิบัติ ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ ขึ้นมาอีก และเป็นการพิสูจน์ถึงความตั้งใจที่ดีของภาครัฐ ทั้งนี้หลังการพิจารณาคดี นักกิจกรรมกรีนพีซ จะจัดกิจกรรมสื่อสารเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวด้วย"นายพลาย กล่าว
ทั้งนี้ปฏิญญาคลิตี้ เป็นบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กรณีปัญหาในพื้นที่ต่างๆ จนนำมาสู่การกำหนดปฏิญญาเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาร่วมกัน ณ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง ในวันที่ 27พ.ค.2555 โดยมีหลักการสำคัญคือ “ในพื้นที่ศักยภาพแร่ รวมถึงพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายอุตสาหกรรมนั้น ประชาชน ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการพิจารณาคุ้มครองเป็นอันดับแรกก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินการอุตสาหกรรม”
กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธีนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ