การพัฒนากรุงเทพมหานครที่ทำลายชนบท

ข่าวอสังหา Thursday June 28, 2012 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กรุงเทพมหานครมีประชากรลดลง แต่ประชากรไปเพิ่มอย่างมหาศาลในปริมณฑล ทำให้พื้นที่ชนบท พื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายลงอย่างมากมาย นับเป็นการวางแผนการพัฒนากรุงเทพมหานครแบบไม่รับผิดชอบต่อสังคม จากการวิเคราะห์ข้อมูลของกรุงเทพมหานครในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา คือ ระหว่าง พ.ศ.2545 จนถึงปี 2554 พบว่า จำนวนประชากรของกรุงเทพมหานครลดลงเกือบ 2% คือจาก 5,782,159 คน เหลือเพียง 5,674,843 คนทั้งที่กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางความเจริญที่ประชากรในต่างจังหวัดหรือรวมทั้งต่างประเทศต่างเข้ามาทำงานและอยู่อาศัย แต่กลับมีประชากรลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ สาเหตุสำคัญเกิดจากความพยายามในการวางผังเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่จำกัดการเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานคร จากแต่เดิมที่ในพื้นที่ต่าง ๆ มีข้อจำกัดการก่อสร้างตามอัตราส่วนพื้นที่ก่อสร้างต่อพื้นที่ดินคือ 10:1 ก็กลับเริ่มมีการจำกัดมากมาย เช่น การจำกัดพื้นที่อาคารปกคลุมพื้นดิน การจำกัดความสูง ทำให้การก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก ที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างในเขตเมืองจึงมีราคาแพงมาก ส่งผลให้เป็นสินค้าที่จำกัดไว้แต่ผู้มีรายได้สูงได้อยู่อาศัย ยิ่งกว่านั้น ตามร่างผังเมืองรวมใหม่ พื้นที่ชานเมืองเช่น เขตสายไหม เขตบางเขน ที่ห่างจากถนนพหลโยธินหรือถนนรามอินทราเกิน 1,000 เมตร ไม่สามารถสร้างอาคารหอพัก-อะพาร์ตเมนต์เช่าขนาดเกินกว่า 2,000 ตรม. หรือ 70 ห้อง ยกเว้นหากตั้งอยู่บนถนนกว้าง 30 เมตร ซึ่งคงหาไม่ได้อยู่แล้ว หรือเขตคลองสามวา ก็ห้ามสร้างกระทั่งอาคารหอพัก-อะพาร์ตเมนต์ที่มีขนาดเกินกว่า 1,000 ตารางเมตร เป็นต้น รวมทั้งห้ามสร้างโครงการทาวน์เฮาส์ ดังนั้นในอนาคตพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นนอกที่เคยมีการขยายตัวของประชากรมาก ก็จะลดลง โดยจะสังเกตได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ ๆ มีการขยายตัวมากที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครได้แก่ เขตคลองสามวา (51.48%) เขตหนองจอก (50.51%) เขตบางขุนเทียน (36.28%) เขตทวีวัฒนา (30.09%) และเขตลาดกระบัง (26.86%) แต่ในอนาคตด้วยข้อจำกัดตามร่างผังเมืองรวมใหม่ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะมีแทบไม่ได้ การขยายตัวก็จะลดลงเช่นในเขตชั้นในและเขตชั้นกลางของกรุงเทพมหานคร การขยายตัวของเมืองจึงจะออกนอกเขตกรุงเทพมหานคร ในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร อันได้แก่จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาครและนครปฐมนั้น มีประชากรเพิ่มจาก 3.9 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 4.7 ล้านคนในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคน หรือ 21% หากในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรมีผู้อยู่อาศัย 3,600 คนตามค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร ประชากร 1.2 ล้านคน ก็เท่ากับใช้พื้นที่ในเขตปริมณฑลถึง 333 ตารางกิโลเมตร การส่งของการพัฒนาเมืองไปนอกเขตกรุงเทพมหานคร ยังส่งผลร้ายอย่างยิ่งต่อประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เพราะต้องเดินทางไกล ออกจากบ้านก่อน 05:30 น. และกลับถึงบ้าน 20:30 น. เป็นต้น ทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำลง ชีวิตครอบครัวขาดความอบอุ่น สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประเทศก็ต้องซื้อเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็ต้องขยายตัวสาธารณูปโภคออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน แนวคิดการพัฒนาเมืองที่พยายามทำให้กรุงเทพมหานคร “หลวม” และไป “โป่ง” ออกในเขตปริมณฑล จึงเป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบต่อสังคมประการหนึ่งของฝ่ายวางแผนการพัฒนาเมือง สิ่งที่กรุงเทพมหานครพึงดำเนินการจึงเป็นการสร้างสาธารณูปโภคโดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน ทั้งขนาดเบา และขนาดใหญ่อย่างขนานใหญ่ในเมือง ส่งเสริมให้มีการสร้างอาคารสูง ๆ ในเมือง เพื่อไม่รุกล้ำพื้นที่ชนบท และสะดวกต่อการเดินทางไปทำงานหรืออยู่อาศัย แต่ลำพังกรุงเทพมหานครก็ไม่สามารถดำเนินการเองได้ เพราะหน่วยงานสาธารณูปโภคส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ จะให้การไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ทางด่วน รถไฟฟ้า มาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็คงจะกลายเป็นองค์กรใหญ่ขาดประสิทธิภาพ รัฐบาลส่วนกลางจึงพึงมากำกับและประสานการทำผังเมืองให้ทุกหน่วยงานวางผังเมืองที่สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ