กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตความรับผิดชอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี 2555 ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2555 ณ บริเวณหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เพื่อกำหนดแนวทางและขั้นตอนให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานในการช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือและระบบแจ้งเตือนภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
นายประจญ ปรัชญ์สกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง กล่าวว่า ปัจจุบันหลายพื้นที่ของประเทศไทยต้องประสบสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งมีแนวโน้ม
ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดลำปางมีพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้ภูเขาสูงหรือตั้งอยู่ในหุบเขา หากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในพื้นที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง จึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตความรับผิดชอบ ได้แก่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่จัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี 2555 “การเผชิญสถานการณ์วิกฤตกรณีเกิดอุทกภัยขนาดรุนแรง” โดยจัดประชุมซักซ้อม เตรียมความพร้อมในการฝึกซ้อมแผนฯ การประสานการปฏิบัติเมื่อเกิดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการฝึกซ้อมแผนแบบปฏิบัติการจริง ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2555 ณ บริเวณหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง โดยจำลองสถานการณ์เกิดฝนตกหนัก และเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฏร จึงได้ประสานไปยัง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย และระงับเหตุตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนฯ ซึ่งการฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้เป็นการกำหนดแนวทางและขั้นตอนให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย รวมถึงประสานการปฏิบัติการช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือและระบบแจ้งเตือนภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ
ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องปลอดภัยหากเกิดอุทกภัยในพื้นที่ อันจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง