กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--หอการค้าไทย
หอการค้าไทยจับมือ 3 หน่วยงาน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ธ.ก.ส. และส.ป.ก. ผลักดันโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เปิดพื้นที่ 100 ไร่ ดึงเกษตรกรต้นแบบ 85 คนมาฝึกอบรมเข้ม ก่อนปล่อยกับไปฝึกเกษตรกรในพื้นที่ต่อไปหลังจบหลักสูตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “แก้จน แก้จริง ปฏิบัติการ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท” เมื่อวันที่25 มิ.ย.55 ว่า หอการค้าไทยได้ร่วมกับ 3 หน่วยงาน คือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผลักดันโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรของประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจะใช้พื้นที่แปลงนาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ให้กับเกษตรกรได้นำไปใช้ในการพึ่งพาต้นเองในระยะยาว
โดยรูปแบบการดำเนินการ หอการค้าไทยจะคัดเลือกเกษตรกรจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศและให้มาเข้าร่วมโครงการ โดยจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจำนวน 100 ไร่ ให้เกษตรกรใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบ 85 คน ๆ ละ 1 ไร่ และมีพื้นที่ส่วนกลางประมาณ 10 ไร่ ซึ่งหอการค้าไทยจะเป็นที่ปรึกษาในการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร คัดสรรปัจจัยการผลิต วัตถุดิบ เพื่อให้เกษตรกรต้นแบบนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดต่อให้กับเกษตรกรในพื้นที่
สำหรับส่วนของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะเป็นผู้พัฒนาและออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับโครงการและร่วมคัดเลือกเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่วน ธ.ก.ส. จะทำหน้าที่บริหารโครงการและจัดสรรงบประมาณ พร้อมทั้งคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ ติดตามความก้าวหน้าและประเมินผล รวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบล่วงหน้าให้แก่เกษตรกรต้นแบบโดยไม่คิดดอกเบี้ย
“โครงการ 1 ไร่ 1 แสน เป็นโครงการที่หอการค้าไทยผลักดันมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เป็นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงทั้งประเทศ และมั่นใจว่า โครงการฝึกอบรมเกษตรกรเพื่อให้มีความรู้และนำไปไปเผยแพร่ต่อในครั้งนี้ จะช่วยให้การกระจายรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรเกิดขึ้นได้จริง ๆ”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหอการค้าไทยได้มีการดำเนินโครงการนำร่องแห่งแรกที่บ้านหนองแต้ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เกษตรกรมีรายได้เกินกว่า 2 แสนบาทต่อไร และต่อมาได้ผลักดันการปลูกมันสำปะหลัง ที่บ้านมาบยางพร จ.ระยอง ก็ประสบความสำเร็จ และได้บรรจุโครงการดังกล่าวไว้ในแนวทางการทำงานของหอการค้าไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ที่มุ่งในประเด็น การลดความเหลื่อมล้ำ ชี้นำเศรษฐกิจ ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างสรรค์สังคมไทย และก้าวไกลสู่สากล
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 1 ในฐานะประธานโครงการลดความเหลื่อมล้ำ หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะผู้นำภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับเกษตรกร โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์หรือริเริ่มดำเนินโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างต้นแบบให้สังคมเกิดการรับรู้ถึงวิธีการที่ถูกต้องในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยได้ดำเนินโครงการ 1 ไร่ ได้เงิน1 แสนบาท และโครงการ 1 บริษัท 1 ชุมชน บนพื้นฐานแนวคิดที่ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีการดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า โครงการนี้ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายที่จะสร้างเกษตรกรต้นแบบ เพื่อกลับไปเป็นครูสอนให้กับผู้ที่สนใจในพื้นที่ โดยเกษตรกรผู้เข้าฝึกอบรมจะต้องฝึกปฏิบัติจริงในพื้นที่ที่กำหนดเป็นระยะเวลา 5 เดือน เรียนรู้กระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน เช่น การจัดสรรพื้นที่แบ่งเป็นคันนา เพื่อใช้ปลูกพืชผักสมุนไพร พืชสวนครัว การขุดคูน้ำรอบแปลงนา เพื่อกักเก็บน้ำใช้รดต้นไม้และเลี้ยงปลา การเลี้ยงเป็ดเพื่อเป็นรายได้เสริมมีการแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เมื่อได้ข้าวเปลือกจะแปรรูปเป็นข้าวสาร นำวัตถุดิบที่เป็นผลพลอยได้ คือ แกลบรำ ปลายข้าว ฟางข้าวมาสร้างประโยชน์เพิ่มเป็นรายได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิต วีถีการผลิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเลิกอบายมุข 6 ได้แก่ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการเล่นเล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตรและเกียจคร้านการทำงาน พร้อมดำรงชีวิตโดยยึดหลักเกษตรอินทรีย์และเกษตรทฤษฎีใหม่ด้วย