กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะเงินทุนที่เข้มแข็ง ตลอดจนความแข็งแกร่งของฐานรายได้ที่มาจากการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย รวมถึงความเป็นผู้นำในด้านการริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงโอกาสและความสามารถของบริษัทในการนำประสบการณ์และความรู้ของกลุ่มเคจีไอในไต้หวันซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและภาวะตลาดหุ้นไทยที่ยังมีความผันผวนอยู่มาก อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคม 2555 ทั้งนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดก็มีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วย
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้และยังคงมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากการบริหารกองทุนของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ ได้ต่อไปแม้สภาพการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะยังคงมีความผันผวนเป็นอย่างมากก็ตาม นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ การให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ได้ และจะสามารถขยายธุรกิจได้โดยไม่ทำให้ฐานเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 จะไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบที่รุนแรงและฉับพลันต่อธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวม
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บล. เคจีไอมีแหล่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายและไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่รายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์มากนัก กล่าวคือ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่เกิน 50% ของรายได้รวมเท่านั้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่สูงกว่า 70% นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการบริหารจัดการกองทุนของ บลจ. วรรณ ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 98% ด้วย ทั้งนี้ รายได้จากการบริหารจัดการกองทุนถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอนและสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับรายได้อื่น ๆ ของบริษัทหลักทรัพย์ ส่วนกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 23%-41% ของรายได้รวมมาจากธุรกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ ธุรกิจการซื้อคืนภาคเอกชน การออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ธุรกิจตราสารอนุพันธ์นอกตลาด ตลอดจนการลงทุนของบริษัทในตราสารหนี้และตราสารทุน
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บล. เคจีไอจัดได้ว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยมีความได้เปรียบจากการนำความรู้ทางวิศวกรรมการเงินตลอดจนประสบการณ์ของกลุ่มเคจีไอ ไต้หวัน ในตลาดการเงินของประเทศไต้หวันซึ่งมีการพัฒนามากกว่ามาใช้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ในประเทศไทย การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจะช่วยให้บริษัทสามารถดึงดูดกลุ่มนักลงทุนที่มีความต้องการบริการที่แตกต่างเข้ามาเป็นลูกค้าของบริษัท บริษัทพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องก่อนคู่แข่งเพื่อจะมีโอกาสได้รับอัตราผลกำไรที่สูงก่อนที่จะเกิดการแข่งขันมากขึ้นในตลาด ตัวอย่างเช่น บริษัทเป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรกที่ให้บริการธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำหลักทรัพย์ไปขายชอร์ตได้ไม่ว่าจะเพื่อการป้องกันความเสี่ยงหรือเพื่อการเก็งกำไร นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นรายแรกที่ออกจำหน่ายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ โดยออกจำหน่ายครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 8 เดือนก่อนที่จะเริ่มมีคู่แข่งเสนอขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ธุรกิจใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ของบริษัทถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยสร้างผลกำไรจำนวนมากให้แก่บริษัทในปี 2553-2554
อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารทุนลดลงในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 มาอยู่ที่ 3.8% (อันดับ 12) จาก 4.5% (อันดับ 9) ในปี 2554 และจาก 4.7% (อันดับ 4) ในปี 2553 นอกจากนี้ อัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายตราสารทุนเฉลี่ยของบริษัทก็อยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่ง โดยอยู่ที่ 0.14%-0.15% ในปี 2553 และ 2554 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 0.17%-0.18% การที่ บล.เคจีไอมีการพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่อยู่ค่อนข้างมากอาจมีส่วนทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาและการย้ายงานของเจ้าหน้าที่การตลาดมากกว่าคู่แข่งเนื่องจากลูกค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง การสร้างความสามารถในการแข่งขันและการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับบริษัทในอนาคต
บล. เคจีไอมีผลกำไรสุทธิ 535 ล้านบาทในปี 2554 เทียบกับ 753 ล้านบาทในปี 2553 โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 51% ในปี 2554 จาก 48% ในปี 2553 แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคู่แข่ง การลดลงของผลกำไรสุทธิในปี 2554 เกิดจากการลดลงของกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ ซึ่งลดลงเป็น 798 ล้านบาทในปี 2554 จาก 948 ล้านบาทในปี 2553 แม้ว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทจะสร้างผลกำไรจำนวนมาก แต่ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ส่วนในด้านความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้น บริษัทมียอดการให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 1.1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555
ส่วนของผู้ถือหุ้นของ บล. เคจีไออยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งทำให้บริษัทจัดอยู่ในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่มีฐานเงินทุนขนาดใหญ่ 5 อันดับแรก อัตราส่วนสินทรัพย์รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 2.2 เท่า ณ สิ้นปี 2553 มาอยู่ที่ 1.5 เท่า ณ สิ้นปี 2554 อันมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของเงินลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ภายใต้สภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มกลับขึ้นมาอยู่ที่ 2.2 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2555 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอสำหรับการขยายกิจการ ณ สิ้นปี 2554 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ 328% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ 7% ตามที่ทางการกำหนดไว้มาก
บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KGI)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)