“ดือราเซะ แสแลแม” ครูผู้สร้าง ‘คนดี’ บนวิถีแห่งมุสลิม ปลูกศรัทธา เสริมจิต นำชีวิตด้วยหลัก “พ-อ-ส-ม-ค-ว-ร”

ข่าวทั่วไป Friday June 29, 2012 17:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ไอแอมพีอาร์ เพราะจุดมุ่งหมายของศาสนาอิสลามคือ “ความสันติสุข” ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวทักทายเมื่อพบเจอกันที่ว่า “อัสลามุอะลัยกุม” ที่หมายถึง “ขอให้สันติสุขจงมีแด่ท่านฯ” และคำกล่าวตอบ “วาอะลัยกุมมุสลัม” ซึ่งแปลได้ว่า “ขอให้สันติสุขจงบังเกิดแก่ท่านเช่นกันฯ” แต่เพราะความ “ศรัทธา” ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามเริ่มเลือนหายไป ด้วยกระแสทุนนิยมได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบและวิถีการดำเนินชีวิต ให้หันไปมุ่งเน้นแต่ด้านเศรษฐกิจที่วัดคุณค่าด้วยวัตถุจนหลงลืม “คุณค่าทางจิตใจ” ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคมตามมาอย่างมากมายในปัจจุบัน “ดือราเซะ แสแลแม” ครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงได้มีแนวคิดที่จะปลูกฝัง “คุณธรรม-จริยธรรม” ตามหลักศาสนาอิสลามให้กับเด็กๆใน โรงเรียนบ้านพงกูแว อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เพราะนักเรียนทุกระดับชั้นทั้งหมดล้วนเป็นชาวไทยมุสลิม “เรื่องของคุณธรรมโดยเฉพาะหลักของศาสนา ขณะนี้เราถอยห่างมาเยอะมาก หลายคนลืมหมดแล้วว่าสิ่งที่เราจะต้องปลูกฝังให้กับเด็กๆ คืออะไร นอกจากจะให้ความรู้เรื่องวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิชาสังคมแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับหลักศรัทธาก่อน หลักศรัทธาที่ยึดมั่นในหลักอิสลามนั้นก็คือหลักของศาสนาถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน” ครูดือราเซะ เล่าถึงที่มาของกิจกรรม “โครงงาน สร้างศรัทธา เสริมจิต นำชีวิตพอเพียง” เป็นกิจกรรมที่น้อมนำ “หลักศรัทธา” ในศาสนาอิสลามมาผสมผสานกับ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีคุณธรรมตามหลักศาสนาอิสลาม เสริมสร้างจิตอาสา และน้อมนำหลักความพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตโดยนำ “หลักศรัทธา” หรือ “หลักอิหม่าน” ซึ่งเป็นหลักที่ชาวมุสลิมทุกคนต้องยึดมั่นในจิตใจ มาปลูกฝังผ่านกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน เพราะคำว่า “อิสลาม” หมายถึงการเป็นคนที่นอบน้อมและต้องปฏิบัติตน 5 ประการได้แก่การ ปฏิญาณตน, ละหมาด, จ่ายซากาต, ถือศีลอด และประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งทางโรงเรียนได้เน้นในเรื่องของการละหมาด เพราะเชื่อมั่นว่า “การละหมาดคือกุญแจสำคัญของการเป็นมุสลิม” จึงจัดให้มีการ “ละหมาดดุฮ์รี” ในช่วงพักเที่ยงของทุกวัน และจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมตามหลักอิสลามจากครูสอนศาสนาหรือ “อุสตาส” นอกจากนี้ทุกวันศุกร์ “ครูดือราเซะ” ก็จะพาเด็กๆ ไปละหมาดที่มัสยิดในชุมชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นระหว่าง “โรงเรียน-ชุมชน” ว่าถึงแม้จะเป็นโรงเรียนของรัฐแต่ก็ยังสามารถจัดการเรียนการสอนและปลูกฝังหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามให้เกิดขึ้นกับบุตรหลานของตนเองได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ยังเน้นการร่วมกิจกรรมเพื่อปลูกฝังการทำสิ่งที่ดีหรือ “อิหสาน” ทั้งทางกาย วาจา ใจ อาทิ ไม่ลักขโมยหรือรังแกผู้อื่น พูดแต่สิ่งดี ไม่คิดอิจฉาริษยา ควบคู่ไปกับสร้างเสริม “จิตอาสา” ด้วยกิจกรรมอาสาเก็บกวาดขยะวันละ 3 เวลา อาสาพัฒนามัสยิด ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน เป็นต้น “กิจกรรมในโครงนี้จะเริ่มให้เด็กๆ มีหลักศรัทธาก่อน มีความเชื่อมั่นว่าพระเจ้ามีจริง พระเจ้าดูแลเราจริง พระเจ้าให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับเราจริง เราทำอะไรก็ตาม พระเจ้าจะเห็นหมดเลย เพราะฉะนั้นทำในสิ่งที่พระเจ้าให้ทำ และหลีกเลี่ยงในสิ่งที่พระเจ้าห้าม นั่นคือข้อง่ายๆ เมื่อเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง ก็ต้องปฏิบัติจริง เราเริ่มด้วยการมีหลักศรัทธาความเชื่ออย่างนี้ ประกอบกับเราก็นำเรื่องของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งสอดคล้องกับหลักปฏิบัติของอิสลามอยู่แล้ว โดยศาสนาอิสลามนั้นใช้คำว่าหลักพอสมควร” ครูดือราเซะกล่าว โดยหลัก “พ-อ-ส-ม-ค-ว-ร” ตามหลักศาสนาอิสลามนั้นประกอบไปด้วย “พ” คือ “พร” อิสลามสอนให้มุสลิมเริ่มทุกกิจกรรมด้วยการขอพรหรือ “ดุอา” ถัดมา “อ” คือ “อนามัย” คือความสะอาดและความปลอดภัยการกินการอยู่ต้องถูกต้องตามแบบอิสลาม “ส” คือ “สงเคราะห์” อิสลามสอนให้คิดถึงสังคมและคนรอบข้าง มิใช่คิดถึงแต่ตนเอง ส่วน “ม” คือ “มัธยัสถ์” ศาสนาอิสลามเน้นให้อยู่อย่างประหยัดพอเพียง “ค” คือ “เคร่งครัด” สอนให้มุสลิมยึดมั่นในหลักปฏิบัติและเคร่งครัดในเรื่องของศาสนา ไม่หลงใหลไปกับบริโภคนิยม “ว” คือ “วิรัติ” คือการอยู่แบบสมถะไม่สนใจในอบายมุข และ “ร” คือ “ร่วมกัน” อิสลามเน้นให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขไม่ว่าจะเป็นชนชั้นหรือศาสนาอะไร นายสุวรรณ สัตยาทิตย์ ผู้อำนวยโรงเรียนบ้านพงกูแว กล่าวถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ครูดือราเซะได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั้น ได้สร้างความรัก ความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนกับครูและโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในพื้นที่ๆ มียังมีครูไทยพุทธสอนอยู่ “ในสายตาของผมครูดือราเซะเป็นคนมุสลิมที่มีความสม่ำเสมอในการทำงานเพื่อเด็กนักเรียนมาตลอด โครงการที่ทำก็ส่งผลดีต่อพฤติกรรมของเด็ก ทำให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น ชุมชนก็เชื่อมั่นในการเรียนการสอนของโรงเรียน โดยไม่ต้องส่งลูกไปเรียนโรงเรียนศาสนาของเอกชน” ผอ.สุวรรณ ระบุ นางนิเด๊า ะ อิแตแล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านบูเก๊ะ ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา ตัวแทนภาคี 4 ฝ่ายในภาคของชุมชนเล่าว่ารู้จักกับครูดือราเซะมานาน 10 ปี เป็นคนพูดน้อย นิสัยดี น่านับถือ รับฟังคนอื่นทุกเรื่อง ชอบช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน และยังเป็นครูที่สอนให้เด็กรู้จักรักท้องถิ่น มีความรักความสามัคคี “ผลงานที่ทำให้ทุกคนรักครูดือราเซะคือ การเป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนกับอบต. เพราะในอดีต อบต.มักมองข้ามปัญหาสังคม เช่น ปัญหาคนแก่ คนป่วย ปัญหาเด็ก และเยาวชน จนทำให้ อบต.ซึ่งอยู่ในงานและชาวชุมชนเกิดความเข้าใจในบทบาทของตัวเองมากขึ้น” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าว ในขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังไม่ยุติ สำหรับ “ครูดือราเซะ” แล้วกลับเชื่อมั่นว่าหากยิ่งปลูกฝังหลักความศรัทธาลงไปในตัวของเด็กและเยาวชนได้แล้ว นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นบนดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้ “เราเริ่มที่ตัวเด็กเล็กๆ แล้วต่อไปเขาจะเป็นผู้ใหญ่ เริ่มให้เขามีหลักศรัทธา เชื่อในหลักศรัทธา เริ่มให้เขามีความคิดว่าอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องแบ่งแยกกัน เริ่มให้เขามีจิตอาสา รู้จักบริจาครู้จักเสียสละ สิ่งเหล่านี้ผมว่ามันติดกับตัวเขา แล้วเขาจะไปอยู่ในสังคมได้” “หลักศาสนาที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนั้น เราเริ่มด้วยการเจอกันนะครับ เวลาพบกันคนมุสลิมเขาจะบอกว่า อัสลามุอะลัยกุม ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน แล้วคนที่ตอบไปว่า วาอะลัยกุมมุสลัม ความสันติสุขนั้นจงเกิดกับท่านด้วย แม้การพบกันก็เริ่มต้นด้วยสันติสุข นี่คือถ้าเราได้ปฏิบัติตามหลักนี้จริง ทุกอย่างๆ มันก็จะกลับมาอยู่ในระบบ ทุกคนจะมีความสุข แต่เป้าหมายหลักของ อิสลามคืออะไร อิสลามคือสันติสุขนั่นคือเป้าหมายใหญ่” ครูดือราเซะสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ