รมว.สาธารณสุข ยัน!! ขณะนี้ยังไม่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ยังคุมสถานการณ์ของโรคได้อยู่

ข่าวทั่วไป Monday July 2, 2012 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--กรมควบคุมโรค นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุกล่าวยืนยันถึงกรณีมีกระแสข่าวการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ขึ้นในบางพื้นที่ของประเทศไทยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่แต่อย่างใด ถึงแม้ในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ 42 ราย ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา และตรวจพบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์H1N1 ที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าควบคุมสถานการณ์ของโรคไว้ได้แล้ว จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าว ขณะนี้รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ คือมีการตรวจพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพียง 3-4 รายจากผู้ที่มาตรวจรักษาทั้งหมด100 คน แต่ถ้าเมื่อไรตรวจพบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เกิน 10 คน จากทั้งหมด 100 คน แสดงว่าน่าจะมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆแล้ว ทั้งนี้รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ จากสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรคระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -18 มิถุนายน 2555 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศรวม 13,284 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 20.91 ต่อแสนประชากร ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลำดับ คือ 25-34 ปี (11.53 %) 15-24 ปี (10.24 %) 35-44 ปี (9.73%) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ลำปาง 135.25 ต่อแสนประชากร สงขลา (100.08) ภูเก็ต (83.06) อุตรดิตถ์ (62.64) พังงา(55.23) เมื่อเทียบจำนวนผู้ป่วยระหว่างปี 2555 กับปี 2554 ในช่วงเวลาเดียวกัน(ระหว่าง 1 มกราคม — 11 มิถุนายน 2554) ซึ่งมีจำนวน 12,037 ราย พบว่ายอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1,247 ราย หรือประมาณร้อยละ 10.36 รมว.สาธารสุข กล่าวต่อว่าในช่วงฤดูฝนถือเป็นช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอยู่แล้ว แม้กรมควบคุมโรคจะได้รับรายงานพบผู้ป่วยเข้ามาเป็นระยะๆ แต่คาดการณ์ว่าสถานการณ์การระบาดปีนี้ไม่น่าจะรุนแรง จะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 1 - 4 ล้านคน และมีอาการรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาประมาณ 5 - 6 หมื่นคน ซึ่งปัจจุบันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A/2009 H1N1 กลายเป็นหนึ่งในเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไม่ได้ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากเหมือนในปีแรกๆ แต่อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนทุกคน ตระหนักถึงการป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้เป็นหวัดหรือติดหวัด โดยการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ได้แก่ กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ การล้างมือบ่อย ๆจะช่วยป้องกันการนำเชื้อโรคมาสู่เราเองจากการสัมผัสเชื้อแล้วเข้าสู่จมูก ตา ปาก และเมื่อไอ จาม ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชูปิดปาก ปิดจมูก และถ้าป่วยเป็นไข้หวัดแล้ว คือมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ถ้าพักผ่อนแล้ว 48 ชั่วโมงอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์เพื่อให้การดูแลรักษาต่อไป แต่ในกรณีกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ถ้าป่วยให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที และต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ไปอยู่ในที่ชุมชน แต่ที่ดีที่สุดคือป่วยแล้วควรอยู่บ้านพัก ไม่ไปทำงาน ไม่ไปโรงเรียน เพื่อไม่ให้กระจายเชื้อให้ผู้อื่นซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าผู้ที่เข้าข่ายอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ เพราะเมื่อติดเชื้อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว จะมีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ จึงขอให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันที่โรงพยาบาลทั่วประเทศ จนถึงขณะนี้ได้เตรียมวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไว้แล้วจำนวน 3.1 ล้านเข็ม (โด๊ส) โดยใช้งบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินงานจัดหาวัคซีนดังกล่าว ให้แก่กลุ่มเสี่ยงฉีดคนละ 1 เข็ม(โด๊ส)ถ้าฉีดวัคซีนนี้ให้กับคน 100 คน จะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่า 70 คน ส่วนอีกประมาณ 30 ถ้าเป็นก็จะไม่รุนแรง ขณะนี้มีผู้ฉีดไปแล้วกว่า 177,000 คน “การดำเนินงานในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค เช่น โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ในสำนักงานต่างๆ ในสถานที่ที่เป็นห้องแอร์ โรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสาธารณสุขและจากประชาชนในการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคร่วมกัน ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในสถานที่ ที่ค่อนข้างแออัด มีคนหมู่มากอยู่รวมกัน การถ่ายเทอากาศไม่สะดวก เช่น ชุมชน วัด โรงเรียน ฯลฯ แล้วพบผู้ป่วยต้องสงสัยว่ามีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และเกรงว่าจะควบคุมการระบาดของโรคไม่ได้ ให้แจ้งทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.)หรือหน่วยงานสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือแจ้งเข้ามาที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าไปควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่ ไม่ให้เกิดการระบาดขึ้น” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวปิดท้าย กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์:0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ