ปภ. เชียงใหม่และเนคเทค ติดระบบเตือนภัยน้ำป่าหลากและโคลนถล่มทั่วเชียงใหม่

ข่าวทั่วไป Monday July 2, 2012 11:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--เนคเทค กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเอไอเอส ประกาศความพร้อมในการติดตั้งระบบเฝ้าระวังเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและโคลนถล่มในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน ๒๔๓ ชุด โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อวางแผนการรับมือ และตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อการเฝ้าระวังก่อนเกิด หรือรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า “ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ ในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ด้านการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ภายใต้กรอบแนวนโยบายของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของชาติ การพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อไซเลนมือหมุน กระบอกวัดปริมาณน้ำฝน รวมถึงการอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครมิสเตอร์เตือนภัย ให้สามารถใช้อุปกรณ์ในการกู้ชีพ กู้ภัย ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ” ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวถึงเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในโครงการนี้ว่า “ระบบดังกล่าวได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อวางแผนการรับมือและตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ เป็นตัวช่วยหนึ่งสำหรับผู้ปฎิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อการเฝ้าระวังก่อนเกิด หรือรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกที่นำระบบดังกล่าวไปติดตั้งทั่วจังหวัดถึง ๒๔๓ จุดและใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม ทีมนักวิจัยของเนคเทค หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือของทั้งสามหน่วยงานในครั้งนี้ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจังหวัดเชียงใหม่ สามารถนำระบบดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนต่อไป” นายดุลยเดช ชินวัตร ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคเหนือ กล่าวว่า “บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้ตระหนักถึงแนวโน้มของการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และแผ่นดินถล่มที่นับวันจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อันนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก เอไอเอสจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ในการวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติเพื่อใช้ประกอบในระบบเฝ้าระวังเตือนภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนซิมการ์ดในระบบจีเอสเอ็ม แอดวานซ์ จำนวน ๒๔๔ เลขหมาย สำหรับติดตั้งในสถานีตรวจวัดอากาศจำนวน ๒๔๓ แห่ง และติดตั้งในเครื่องแม่ข่ายอีก ๑ แห่ง พร้อมทั้งได้สนับสนุนค่าใช้บริการในการส่งข้อมูลปริมาณน้ำฝน รวมทั้งข้อมูลตรวจวัดอื่นๆ จากทั้ง ๒๔๓ สถานี เข้าสู่เครื่องแม่ข่าย ทุกๆ ๕ นาที ผ่านเทคโนโลยี GPRS และการส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังผู้มีหน้าที่ในการเฝ้าระวังและรับผิดชอบโดยตรง รวมมูลค่าการสนับสนุนประมาณ ๑ ล้านบาท” การทำงานของระบบเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝนเป็นระบบที่ทำงานโดยอัตโนมัติ ซึ่งเริ่มจากสถานีตรวจวัดอากาศทำการบันทึกและเก็บค่าปริมาณน้ำฝนรวมทั้ง ข้อมูลตรวจวัดอื่นๆ อันได้แก่ อุณหภูมิความชื่นในอากาศ จากนั้นสถานีตรวจวัดอากาศจะทำการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ตผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อทำการส่งข้อมูลที่ตรวจวัดได้ เข้าสู่เครื่องแม่ข่ายบันทึกฐานข้อมูล ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวนี้จะสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางโปรแกรมเว็บ บราวเซอร์ทั่วไป นอกจากการส่งข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนดเข้าสู่ เครื่องแม่ข่ายฐานข้อมูลแล้ว สถานีตรวจวัดอากาศระยะไกลยังทำการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน ปริมาณน้ำฝนในช่วง ๒๔ ชั่วโมงย้อนหลัง ตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยทำการแจ้งเตือนเเป็นข้อความผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่ไปยังผู้ที่มีหน้าที่ในการเฝ้าระวังและรับผิดชอบโดยตรงไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพีรนันท์ กาญจนาศรีสุนทร งานกลยุทธ์การถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โทร 081 755 6013

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ