ก.ล.ต. ผนึก ศศินทร์ - TMA - นิตยสาร MBA แนะธุรกิจไทยเรื่องการลงทุนรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 2, 2012 14:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--ศศินทร์ ก.ล.ต. รุกหนักเร่งระดมความคิดเรื่องการลงทุนไทย เตรียมรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 นี้ โดยผนึกกำลังกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และนิตยสาร MBA ร่วมให้ความรู้อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้งานสัมมนาหัวข้อ “โค้งสุดท้ายสู่ AEC รู้สู้ Free Flow of Investment” จากมุมมองของ ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในประเด็นเงินทุนเพื่อรับเออีซี ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในกระแส ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเรา ซึ่งในเวลานี้ทุกภาคส่วนต่างได้มีการเตรียมพร้อมรับมือกันแล้ว เมื่อกล่าวถึง การลงทุน หรือตลาดทุน ขอให้วางใจได้ว่า ท่านมี ก.ล.ต. อยู่เคียงข้าง ทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นไปอย่างมีระเบียบและได้มาตรฐานสากล ทั้งตลาดแรก และตลาดรอง สนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงตลาดทุนและระดมทุนได้อย่างมีคุณภาพ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชนและดำเนินการออกกฎเกณฑ์ให้การดำเนินการของผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนเป็นไปอย่างยุติธรรม และเมื่อตลาดทุนกำลังจะยกระดับไปสู่ regional ด้วยการที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังจะรวมกันเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ย่อมส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์การกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดย ก.ล.ต. มองว่า เออีซีจะมีผลทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยง่ายขึ้นเช่นเดียวกับนักลงทุนไทยออกไปลงทุนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน โดย ก.ล.ต. ได้มีการเตรียมพร้อมทั้งจากภายในและสร้างความเชื่อมั่นในระดับสากลไปด้วยพร้อมกัน อย่างไรก็ตามในงานสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นอีกเวทีหนึ่งในการร่วมระดมความคิดเรื่องการลงทุนให้กับนักธุรกิจไทย ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบถึงแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกและเชิงรับเรื่อง Investment เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่เออีซีกำลังจะมาถึงอีก 3 ปีข้างหน้า ด้าน ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศศินทร์ กล่าวว่า ศศินทร์มีแผนการที่จะเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ AEC ในปี 2558 เมื่อรู้อย่างนี้ว่ามีการเคลื่อนย้ายเสรีแล้วจะทำอย่างไรดี จะเตรียมตัวอย่างไร โดยเฉพาะแหล่งเงินทุน งบการลงทุน เพื่อขยายโอกาสธุรกิจรับมือกับเออีซีที่ต้องเผชิญคู่แข่งจำนวนมาก ซึ่งก็พยายามศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอดเพื่อเตรียมความพร้อมต่อนักธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบหากไม่เตรียมตัวให้ดีพอ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเสรีของเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามากขึ้นในอนาคต จากกฎหมายอนุญาตให้ต่างด้าวเข้าถือหุ้นในกิจการเพิ่มเป็นสัดส่วน70% จากปัจจุบันนักลงทุนต่างด้าวมีสิทธิถือหุ้นในกิจการไทยสัดส่วน 41% เป็นต้น สำหรับ นายประเสริฐ ธวัชโชคทวี ประธานกลุ่มบริหารการตลาดทีเอ็มเอ มองว่า ในภาคธุรกิจส่วนมากมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในมือ คือการลงทุนและเงินทุนที่จะต้องไหลเข้าออกทั้งในและต่างประเทศในภาคธุรกิจเป็นภาคที่มีส่วนอย่างมากในการป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลอยู่ในมือ “การลงทุน” และ “เงินทุน” จะต้องไหลเข้า-ออก ทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศจึงน่าสนใจไม่น้อยทีเดียวสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการรายย่อยที่จะเข้าไปแสวงหาโอกาสและช่องทางในการทำธุรกิจใหม่ๆ การศึกษาบริบท การทำธุรกิจ ข้อกฎหมายต่างๆ ตลอดจนวัฒนธรรมของประเทศอาเซียนอย่างเข้าใจถ่องแท้จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับการลงทุนในอนาคต “การสัมมนาในครั้งนี้จะต้องเป็นมุมที่ผู้ฟังคิดไม่ถึง อย่างเรื่องการลงทุน เมื่อเปิดเสรีอาเซียนแล้วจะนำเงินไปลงทุนที่ไหนดี จะฝากเงินในธนาคารในประเทศกินดอกเบี้ย 2% หรือไปฝากที่เมืองนอก แต่จะปลอดภัยหรือไม่แบบนี้ “พรมแดนการค้าขาย การบริการ แรงงานที่เคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีจะยิ่งทำให้เกิดความตื่นตัวและทำให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจเปลี่ยนไปภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศหรือความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) จะเป็นบทพิสูจน์ถึงความพร้อมและความสามารถของคนในประเทศที่จะแข่งขันกับภายนอกได้อย่างไม่หวาดหวั่น” ปิดท้ายด้วย นางสาวรัตนา ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการโครงการพิเศษ นิตยสาร MBA กล่าวว่า ความร่วมมือต่อการจัดสัมมนา “โค้งสุดท้ายสู่ AEC...” นิตยสาร MBA เห็นด้วยถึงความสำคัญและต้องการสนับสนุนเพื่อสร้างความเข้าใจ และส่งมอบ know how ของการก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจที่่กรอบและขอบขยายตัวกว้างออกไป ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องคำนึงและทำความเข้าใจอีกมากโอกาสนี้ ปัจจุบันจะเห็นว่า หลายภาคส่วนล้วนตื่นตัวและสนใจในเรื่อง AEC ทั้งสถาบันการศึกษาแทบทุกแห่ง ลุกขึ้นมาจัดสัมมนา ว่าด้วยเรื่อง AEC กันอย่างถ้วนทั่ว ซึ่งล้วนครอบคลุมประเด็นเรื่อง การลงทุน ตลาดสินค้าและบริการ การจัดการเรื่องแรงงาน นิตยสาร MBA ซึ่งมีจุดยืนในการเป็นนิตยสารด้านเศรษฐกิจและการจัดการ ย่อมไม่พลาดที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอและเผยแพร่ ประเด็นสาระสำคัญในเรื่อง AEC ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน หรือกลุ่มเงินทุนจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน โดยนิตยสาร MBA ฉบับเมษายน 2555 ได้นำเสนอ เนื้อหา Financial innovation เพื่อผู้สนใจทำความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการกำกับ และดูแล ในสาระเรื่องนี้ ซึ่งการสัมมนาในครั้งจะเป็นต่อยอดความเข้าใจของสังคมเพิ่มมากขึ้น ในอีกทางหนึ่ง เพื่อยังผลไปสู่การกำหนดทิศทางธุรกิจของตนในอนาคตได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ