กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ 25-29 มิ.ย. 55 น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า (W-O-W) อยู่ที่ 93.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 1.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 91.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 80.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ลดลง 0.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 99.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และดีเซล ลดลง 1.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 106.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- การประชุมผู้นำกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีมติออกมาตรการช่วยเหลือธนาคารสเปนและรัฐบาลอิตาลี อาทิ อัดฉีดเงินโดยตรงให้แก่ธนาคารสเปน และเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาด เพื่อช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของทั้ง 2 ประเทศ
- เหตุการณ์ประท้วงหยุดงานของพนักงานแท่นผลิตของนอร์เวย์ ยืดเยื้อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลง 250,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 13% ของประเทศ
- มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านทำให้อุปทานน้ำมันตึงตัว เนื่องจากผู้ใช้ต้องหาแหล่งทดแทน อาทิ ตุรกีนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือน เม.ย. 55 ลดลง 88,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อน (M-O-M) หรือ 35% อยู่ที่ 161,000 บาร์เรลต่อวัน และ ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเดือน พ.ค. 55 ลดลง 47% จากปีก่อน (Y-O-Y) อยู่ที่ 106,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบโดยรวมเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน อยู่ที่ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- กลุ่ม OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 55 ลดลง 70,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อน อยู่ที่ 31.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอิหร่านลดกำลังการผลิต
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claim) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 มิ.ย.55 ลดลง 6,000 ราย อยู่ที่ 386,000 ราย และกระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ในไตรมาส 1/55 (ครั้งที่ 3) อยู่ที่ +1.9%
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- สำนักสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานความต้องการน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 55 อยู่ที่ 18.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ 470,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองน้ำมันดิบ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มิ.ย. 55 ลดลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 387.2 ล้านบาร์เรล
- Reuters Poll คาดการณ์ความต้องการน้ำมันโลกปี 2555 เติบโต 900,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
- แท่นผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในบริเวณอ่าวเม็กซิโก (Gulf of Mexico) ส่วนใหญ่ 96% กลับมาดำเนินการตามปกติหลังจากพายุโซนร้อน Debby อ่อนกำลังลง โดยกำลังการผลิต 44,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 4% ยังปิดดำเนินการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย
- อิรักผลิตน้ำมันดิบสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานแถลงปริมาณการผลิตในเดือน มิ.ย.55 อยู่ที่ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ อิรักมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตภายในสิ้นปีนี้มาอยู่ที่ระดับ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 2557 จะผลิตที่ 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในสัปดาห์ก่อน ส่วนใหญ่ลดลง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันในตลาดซื้อขายล่วงหน้า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 3 ปี และรุนแรงเป็นอันดับที่ 4 ในประวัติการณ์ โดยน้ำมันดิบ WTI และ Brent ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% และ 7% ตามลำดับ หลังการประชุมผู้นำสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีมติออกมาตรการช่วยเหลืออิตาลีและสเปน ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในการรับมือกับวิกฤตหนี้สินของยุโรป และกลับมาถือสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อีกทั้งมาตรการคว่ำบาตรนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 55 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนราคาน้ำมัน นอกจากนั้นการประท้วงหยุดงานของพนักงานที่แท่นผลิตในนอร์เวย์ ลดปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลง โดยรัฐบาลนอร์เวย์ยังไม่เข้าไปแทรกแซงการประท้วงดังกล่าว ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 92-101 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 79-87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ให้จับตาการเจรจาระหว่างกลุ่มประเทศมหาอำนาจ 6 ประเทศ (P5+1) และอิหร่าน เรื่องโครงการนิวเคลียร์ ในวันที่ 3 ก.ค. 55 ณ.กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี