กรมป่าไม้ผนึกกำลังติดตามแผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำมั่นใจ รบ.พร้อมรับมือน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Monday July 2, 2012 17:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--กรมป่าไม้ ติดตามแผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำ แนะจังหวัด-ป่าไม้หารือวางแผนปลูกป่า-หญ้าแฝก-ฝายให้ชัดเจน พร้อมแนะต้องทำงานโปร่งใส-ให้ประชาชนมีส่วนร่วม “ปลอดประสพ” เผยแผนงานต่างๆ ก้าวหน้าไปมาก เชื่อปีนี้หากเกิดน้ำท่วมรัฐบาลพร้อมรับมือ การประชุมเชิงปฏิบัติการแผนการฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน และการทำฝาย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555ณ ห้องประชุมป่าสักหลวง โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแผนการฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน และการทำฝาย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อชี้แจงและประสานความ ร่วมมือระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มจังหวัดต้นน้ำกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานตามโครงการแผนฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน และการทำฝาย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงเช้าจะเป็นการรับมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานจากรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านและปลัดกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ในภาคบ่ายจะเป็นการจัดการประชุมกลุ่มย่อยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน แต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อหารือและนำเสนอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามโครงการแผนฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน และการทำฝายใน 5 ประเด็น ได้แก่ฝาย แฝก การเพาะชำกล้าไม้ การปลูกป่า และการสนับสนุนให้ชุมชนร่วมปลูกป่าและดูแลรักษาอย่างยั่งยืน รวมถึงการเสนอกิจกรรม ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะอื่นๆ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การ แก้ไขปัญหาอุทกภัยถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญมา อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในส่วนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมป่าไม้รับผิดชอบอยู่นั้น ประกอบด้วยการเพาะปลูกหญ้าแฝกจำนวน 140 ล้านกล้า การเพาะชำกล้าไม้จำนวน 172 ล้านกล้า และการก่อสร้างฝายจำนวน 2,810 ฝาย เป็นฝายกึ่งถาวร 2,200 ฝาย และฝายถาวร 610 ฝาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นเดือน ก.ค.นี้ นายปรีชากล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้นั้น เป็นการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกรมป่าไม้และจังหวัดทั้ง 10 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ถึงการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยทุกฝ่ายจะร่วมกันพิจารณาว่าจะวางแผนการดำเนินงานในเรื่องของการปลูกป่า และปลูกหญ้าแฝกในลักษณะใด ทั้งในส่วนของพื้นที่ ชนิดของพันธุ์ไม้ และหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งนอกจากจะดำเนินการตามแผนงานแล้ว หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นว่ามีพื้นที่ใดที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ ปลูกป่าหรือทำฝายเพิ่มเติมก็สามารถเสนอเรื่องเพื่อขอดำเนินการได้ แต่จะต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ และมีการลงบันทึกข้อมูลระบุพิกัดที่สามารถตรวจสอบผ่านทางระบบสารสนเทศได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ขณะที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศ หากสามารถแก้ไขปัญหาน้ำได้ก็จะเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาการดำเนินงานให้ครบถ้วน รอบด้าน เช่น การปลูกป่าอย่าคิดเฉพาะเรื่องการปลูกป่าเท่านั้น แต่ต้องนึกถึงเรื่องการดูแลรักษาป่าในภายหลังด้วย ส่วนนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การพิจารณาปัญหาดังกล่าวต้องมองปัญหาในเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบ อย่าพิจารณาเฉพาะในส่วนของจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในระหว่างการมอบนโยบายแก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่า การดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้มีขึ้นเนื่องจากตระหนักว่าปัญหาอุทกภัยถือ เป็นปัญหาระดับชาติที่สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อ เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมากำกับดูแลการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การสั่งการมาจากจุดเดียว ไม่มีการสั่งงานซ้ำซ้อน โดยยุทธศาสตร์ที่ทุกฝ่ายจะต้องยึดถือก็คือจะยอมให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงไม่ได้ เด็ดขาด โดยจะต้องเตรียมการทั้งการป้องกัน การชะลอน้ำ การระบายน้ำ และการเตือนภัย ทั้งในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การสร้างแก้มลิง การสร้างฝาย เป็นต้น ขณะที่แนวทางการปลูกป่าของกรมป่าไม้นั้นก็จะต้องดำเนินการโดยตั้งอยู่บนพื้น ฐานที่ว่าป่าจะต้องสามารถช่วยดูดซับน้ำได้เช่นกัน นายปลอดประสพกล่าวต่อไปว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก และมีขั้นตอนการดำเนินงานและการสั่งการที่มีกฎหมายรองรับทุกอย่าง ดังนั้น ข้าราชการอาจจะรู้สึกว่าถูกกดดันหรือเข้มงวดในการติดตามผลงานบ้าง แต่ขอให้เข้าใจว่าการทำงานครั้งนี้เป็นการต่อสู้กับเรื่องความเป็นความตาย ของประเทศ ตนเองก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของกรมป่าไม้ จึงรู้สึกไม่สบายใจที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเข้ามาตรวจสอบการทำงานของกรมป่าไม้เป็นการจ้องจับผิด แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าเรื่องนี้จะพลาดไม่ได้ ซึ่งจะต้องติดตามตรวจสอบเพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด ตนขอประกาศว่าจะติดตามงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา และหากทราบว่าใครยังบ่นเรื่องการตรวจสอบและติดตามผลการทำงานก็จะตรวจสอบให้หนักยิ่งขึ้น เพราะถือว่าร้อนตัว ทั้งนี้ นายปลอดประสพกล่าวภายหลังมอบนโยบายแก่ที่ประชุมว่า ขอให้ประชาชนโปรดวางใจและทำหน้าที่ของท่านไปตามปกติ ปล่อยให้เรื่องการบริหารจัดการน้ำและรับมือปัญหาอุทกภัยเป็นหน้าที่ของ รัฐบาล ซึ่งในปัจจุบันการดำเนินงานเพื่อเตรียมการรับมือและป้องกันปัญหาการเกิด อุทกภัยมีความก้าวหน้าไปมากแล้ว ทั้งในส่วนของการเตรียมการก่อสร้างแก้มลิง ฝาย การปลูกป่า หรือการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ โดยน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลหรือเขื่อนสิริกิติ์นั้นยังมีปริมาณไม่มาก และยังสามารถรองรับน้ำได้อีก จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำในปีนี้จะไม่มากเท่ากับปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น เชื่อว่าแผนงานต่าง ๆ ที่ได้วางเอาไว้จะสามารถรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ